01 October 2007

รถไฟฟ้าสายสีม่วง

เมื่อวานนี้ได้อ่านข่าวว่าสภาพัฒน์ (สศช.) ได้พิจารณาเห็นชอบให้สร้างรถไฟฟ้าสายสีม่วง (บางใหญ่-บางซื่อ) และจะได้นำเรื่องเข้าคณะรัฐมนตรีเพื่ออนุมัติให้เริ่มก่อสร้างได้

ได้ยินข่าวนี้แล้วรู้สึกอึ้ง ผสมกับผิดหวังมากๆ

คนที่ติดตามเรื่องการพัฒนาระบบรถไฟฟ้าขนส่งมวลชน (ระบบราง) ในกรุงเทพฯ จะรู้ว่ารถไฟฟ้าตามที่มีการศึกษาและวางแผนไว้นั้นมีทั้งสิ้น 7 สาย (ในระยะแรก) ตั้งแต่สายสีน้ำเงิน (สายวงกลม ต่อจากหัวลำโพง ข้ามมาฝั่งธนฯ และวิ่งตาม ถ.จรัญฯไปบรรจบกับสายเดิมที่บางซื่อ) สายสีแดง (รังสิต-มหาชัย) สายสีเขียวอ่อน และเขียวแก่ (ส่วนต่อขยายจากบีทีเอสเดิม) สายสีม่วง (บางใหญ่-บางซื่อ-ราษฎร์บูรณะ) สายสีส้ม และ สายสี... (จำไม่ได้)


ในบรรดาทุกสายที่กล่าวมานั้น หากเรียงลำดับตามปริมาณความต้องการแล้ว สายสีน้ำเงิน สายสีแดง และสายสีเขียว ซึ่งควรจะเป็นสายแรกๆที่สร้างก่อน โดยเฉพาะอย่างยิ่งสายสีน้ำเงินที่เป็นสายวงกลมภายในเมือง ที่จะทำให้เกิดการไหลของมวลชนไปในทิศทางต่างๆได้อย่างมีประสิทธิภาพ คล้ายกับสายวงกลมในเมืองใหญต่างๆ อาทิ Circle Line ในมหานครลอนดอน สายยามาโนเตะ ในกรุงโตเกียว เป็นต้น

แต่สายที่จะเริ่มก่อสร้างต่อไปเป็นอันดับแรกกลับเป็นสายสีม่วง ซึ่งเป็นสายวิ่งจากนอกเมือง (บางใหญ่ จ.นนทบุรี) เข้ามาในเมือง ซึ่งไม่ได้บรรจบกับสถานีบางซื่อของสายสีน้ำเงินในปัจจุบันด้วยซ้ำไป

ในปัจจุบันสายสีน้ำเงินที่เป็นรถไฟใต้ดินนั้นมีผู้โดยสารวันละ 2 แสนกว่าคน ซึ่งก็ยังต่ำกว่าจุดคุ้มทุน ทั้งๆที่เป็นรถไฟในเมือง มีผู้คนขึ้นใช้บริการตลอดวัน รวมถึงวันเสาร์อาทิตย์ และวันหยุดราชการ

ในขณะที่สายสีม่วงเป็นรถไฟที่วิ่งจากนอกเมือง จะมีคนขึ้นมากก็เฉพาะในตอนชั่วโมงเร่งด่วนตอนเช้า และเย็น เท่านั้น แถมวันเสาร์อาทิตย์ และวันหยุดราชการก็จะมีคนใช้บริการน้อย มีโอกาสที่จะขาดทุนสูง

ยิ่งในครั้งนี้ผู้รับผิดชอบบอกว่า รัฐจะเป็นผู้ลงทุนเอง (อาจจะกู้เงินมาจากแหล่งใดแหล่งหนึ่ง เช่น เจบิก หรือแหล่งเงินทุนอื่นๆ) แทนที่จะใช้ระบบสัมปทานเหมือนอย่างโครงการอื่นๆ ซึ่งหากใช้ระบบสัมปทานรัฐก็จะได้ไม่ต้องแบกรับภาระขาดทุน (ซึ่งมีโอกาสเกิดขึ้นสูง) อีกด้วย

คำถามในขณะนี้คือ ทำไมต้องสร้างสายสีม่วงก่อน ในขณะที่ยังมีสายอื่นๆที่มีความต้องการ มีความจำเป็นเร่งด่วนใด คำตอบที่มักจะตอบเป็นแผ่นเสียงตกร่องคือ เพราะว่าเป็นสายที่พร้อมที่สุด มีแบบก่อสร้างแล้ว เวนคืนก็ไม่มีปัญหา ซึ่งไม่ใช่เหตุผลที่ดีเลย

ผู้ที่อาศัยอยู่ตามแนวรถไฟฟ้าสายสีม่วง อาจจะนึกโกรธหรือไม่ชอบสิ่งที่ผมเขียนในลักษณะนี้ แต่ผมขออนุญาตเขียนในฐานะผู้เสียภาษีคนหนึ่ง ซึ่งหากเกิดภาวะขาดทุน รัฐก็จะต้องใส่เงินลงไปกับโครงการนี้อีกมาก เหมือนกับกรณี ขสมก. ซึ่งก็จะกระทบกับภาษีที่ผมเสียให้รัฐทุกปี

ผมนึงขอบ่น ด้วยประการฉะนี้