31 March 2007

Inside-out & Outside-in (2)

สัปดาห์ที่ผ่านมา เป็นสัปดาห์แห่งการสอบวิทยานิพนธ์ (ระดับ ป.โท) ปริญญานิพนธ์ (ระดับ ป.ตรี) เป็นสัปดาห์ที่วุ่นวายมากๆสัปดาห์หนึ่งในรอบปีของคนที่เป็นอาจารย์มหาวิทยาลัย

ในใจอาจารย์ที่ปรึกษาวิทยานิพนธ์ (หรือปริญญานิพนธ์) ที่มีลูกศิษย์กำลังจะต้องสอบนั้น จะมีอาการเครียดขึ้นมาทันทีในระยะนี้ เนื่องจากในการสอบวิทยานิพนธ์จะมีกรรมการซึ่งเป็นอาจารย์ท่านอื่น ไม่ว่าจะเป็นอาจารย์ภายใน หรืออาจารย์พิเศษจากภายนอก ความเครียดที่ว่ามาเกิดจากอาการกลัวว่าลูกศิษย์เราจะไม่สามารถนำเสนอวิทยานิพนธ์ได้ดี ไม่สามารถอธิบายให้กับกรรมการท่านอื่นให้เข้าใจได้ ไม่สามารถตอบคำถามที่กรรมการถามได้ และสุดท้ายคือ "ไม่สามารถจะสอบผ่านได้ !" ซึ่งนั้นก็หมายถึงว่าเป็นความผิดส่วนหนึ่งของอาจารย์ที่ปรึกษาด้วย ด้วยข้อหา "ทำยังไงให้ลูกศิษย์ทำงานได้แย่ขนาดนี้" หรือข้อหา "งานแย่ขนาดนี้ปล่อยให้ขึ้นเวทีมาสอบได้อย่างไร"

แม้ว่าตัวเองยังไม่เคยเจอข้อหาพวกนี้ แต่ก็ยังอดหวั่นใจไม่ได้ว่าอาจจะมีโอกาสเกิดขึ้นได้ จึงมีโอกาสได้นั่งคิด วิเคราะห์ พิจารณา ว่าจะทำอย่างไรไม่ให้เหตุการณ์พวกนี้เกิดขึ้น (ง่ายๆ)

ในลูกศิษย์วิทยานิพนธ์ (ป.โท) ที่อยู่ในการดูแล จะมีอยู่ 2 พวกคือ


  1. พวกที่จบ ป.ตรี แล้วเรียนต่อ ป.โทเลย ยังไม่เคยทำงานหรือทำงานมาน้อยกว่า 2 ปี

  2. พวกที่ทำงานมาแล้วโดยเฉพาะที่ทำงานมามากกว่า 2 ปี บางคนมี่ประสบการณ์มามากกว่า 20 ปี

พวกแรกจะเป็นกลุ่มที่ไฟแรง บอกให้ทำอะไรก็ทำตามทุกอย่าง ในเรื่องทฤษฎี เรื่องการคำนวณ เรื่องการหาข้อมูล พวกนี้ทำได้เร็ว มาหาอาจารย์ได้ตลอดเวลา

พวกหลักเป็นพวกที่มีสัมภาระเยอะ (ภาระส่วนตัว) ไม่สามารถทุ่มเวลาให้กับการทำงานวิทยานิพนธ์ได้เต็มที่ หาเวลามาเจออาจารย์ไม่ค่อยได้

ในช่วงแรกๆที่เริ่มดูแลวิทยานิพนธ์ใหม่ รู้สึกว่าอึดอัดกับกลุ่มที่มีประสบการณ์และกำลังทำงานอยู่ เนื่องจากกลุ่มนี้นอกจากจะไม่มีเวลาแล้ว ยังมักจะเข้าใจทฤษฎี หลักการได้ยาก แม้ว่าลูกศิษย์กลุ่มนี้จะมีโจทย์ปัญหาที่จะมาใช้เป็นหัวข้อวิทยานิพนธ์ โดยไม่ยากนัก (การหาหัวข้อวิทยานิพนธ์เป็นสิ่งที่ยากลำบากที่สุดสิ่งหนึ่งในกระบวนการ) แต่พอเข้าถึงจุดที่จะต้องหาทฤษฎี หรือจับเอาหลักการใดหลักการหนึ่งมาเป็น กรอบการวิจัย (research framework) แล้วล่ะก็ พวกนี้เขาจะไปต่อไม่เป็น หรือไปได้ลำบาก และมักจะพยายามเบนหัวเข็มทิศไปหาทิศทางที่ง่ายต่อการทำวิจัยที่สุด แต่ทิศทางที่ว่ามักจะเป็นทิศที่ไม่ใคร่จะถูกเท่าไหร่

ในขณะที่กลุ่มพวกที่จบใหม่มักจะหาหัวข้อวิทยานิพนธ์ยาก เนื่องจากยังไม่รู้จักโจทย์ปัญหาในการทำงาน ไม่สามารถเชื่อมโยงทฤษฎีกับปฏิบัติได้ จึงมีปัญหาอีกอย่างที่ไม่เหมือนกัน แต่พวกนี้หากว่าได้หัวข้อที่ชัดเจนแล้วจะไปได้เร็วมาก เรียกวได้ว่าแทบจะพุ่งเป็นจรวดเลยทีเดียว บางกรณีกลับมาหาอีกทีบอกว่าเก็บผลการวิจัยมาเรียบร้อยแล้ว โอ้โห อะไรจะรวดเร็วขนาดนั้น นี่ก็เป็นปัญหาอีกอย่างหนึ่งที่ต้องแก้ไข

(ต่อตอนหน้า)

24 March 2007

Outside-In & Inside-Out

วิศวกรนั้นมีข้อเสียที่สำคัญมากๆ อยู่ประการหนึ่งคือมีการตั้งโจทย์ไม่เก่ง เพราะวิศวกรถูกสอนมาให้เป็นผู้แก้ปัญหาหรือที่ภาษาอังกฤษเรียกว่าเป็นพวก solution provider ซึ่งเป็นมนุษย์จำพวกที่แก้ปัญหาได้ทุกอย่าง อยากได้อะไรขอให้บอก วิศวกรสามารถหาคำตอบให้ได้

ครั้งหนึ่งเมื่อประมาณ 1 ปีมาแล้ว (ปี พ.ศ. 2549) ผมในฐานะวิศวกรถูกแซวจากอาจารย์ที่ผมนับถือท่านหนึ่งซึ่งท่านเป็นนักเศรษฐศาสตร์ว่า "พวกวิศวกรนี่เก่งนะ แก้ปัญหาได้หมด ขนาดตั้งโจทย์ให้ผิดยังหาคำตอบมาให้ได้เลย"

ครั้งนั้นทำให้ผมต้องกลับมาตั้งคำถามกับตัวเองว่า "พวกเราเหล่าวิศวกร เป็นอย่างนั้นจริงรึเปล่า" หรือจะให้ตรงประเด็น "เรานี่เป็นมนุษย์จำพวกที่เค้าว่าจริงหรือ" หนักเข้าก็พาลคิดไปว่า "การเป็นคนจำพวก solution provider นี่ผิดหรือ"

หลังจากวันนั้นก็ได้ย้อนรอยความคิดตนเองว่าสิ่งที่เราสังเกตเห็นในวงการวิศวกรรมนั้นเป็นอย่างไร เป็นอย่างที่เค้าว่าจริงหรือไม่ ก็พบเหตุการณ์หลายครั้งหลายคราวที่ทำให้เกิดอาการบ่นกับตัวเองว่า "เออ สงสัยจะจริง"

ครั้งหนึ่งผมได้รับมอบหมายให้วิเคราะห์กึ่งทบทวนแผนการพัฒนาระบบขนส่งมวลชน หรือที่เราเรียกันจนติดปากว่า "รถไฟฟ้า" ตามแผนการก่อสร้างที่เหล่าวิศวกรได้กำหนดกันไว้ ในแผนนั้นมีรถไฟฟ้าทั้งหมด 7 สาย ในจำนวนนี้มีอยู่สายหนึ่งที่ถูกออกแบบให้เป็นแบบยกระดับ ซึ่งเมื่อพวกเรา (ทีมงาน) ได้เห็นแบบแล้วเกิดความสงสัยเป็นอย่างมากกว่าทำถึงต้องยกระดับจนสูงมาก ซึ่งในบางตอนมีความสูงเทียบเท่าอาคาร 5 ชั้น ทำให้เกิดคำถามว่าจำเป็นต้องสูงขนาดนี้เชียวหรือ ก็ได้รับคำตอบจากวิศวกรผู้ออกแบบว่า "ก็ตามแผนการก่อสร้าง ถนนที่รถไฟฟ้าสายนี้ผ่านมีแผนที่จะสร้างที่กลับรถแบบเกือกม้า เราซึ่งเป็นผู้ออกแบบรถไฟฟ้าจึงต้องยกระดับรางรถไฟฟ้าให้สูงข้ามที่กลับรถพวกนี้ได้" ซึ่งก็มีเหตุผลเราจึงเข้าใจ แต่พอไปดูในแผนการก่อสร้างจริงๆ ปรากฎว่าตลอดแนวรถไฟฟ้าประมาณ 10 กิโลเมตร มีทางกลับรถประมาณ 3 แห่ง ซึ่งหากย้อนกลับไปตั้งโจทย์ใหม่ตั้งแต่แรก ก็จะพบว่าแทนที่จะยกระดับรางรถไฟฟ้า ก็ควรออกแบบที่กลับรถเกือกม้าที่มีแต่ 3 แห่งให้เป็นที่กลับรถใต้ดิน ก็จะทำให้สามารถลดระดับของรางรถไฟฟ้าที่มีความยาว 10 กิโลเมตรลงมาสู่ระดับปกติได้ ซึ่งจะประหยัดเงินค่าก่อสร้างมหาศาล



เหตุการณ์ประเภทนี้กระมังที่ทำให้คนอื่นเข้าใจว่าคนที่อยู่ในวงการวิชาชีพวิศวกร เป็นคนที่เก่งในการหาคำตอบ แต่ขาดทักษะในการตั้งคำถาม หรือจะพูดภาษาชาวบ้านก็คือ "สั่งอะไรมาทำให้ได้หมด แต่อย่าสั่งผิดก็แล้วกัน แล้วจะหาว่าไม่เตือน"



ผมคิดว่าไม่ว่าพวกเราจะเป็นอย่างนั้นจริงหรือไม่ แต่ผลงานจากมือพวกเราก็ปรากฎอยู่ในสายตาชาวบ้าน และทำให้ชาวบ้านตีความพวกเราเป็นแบบนั้นได้



จริงหรือไม่?