07 November 2007

โลกร้อน vs แก๊สโซฮอล (1)

มีนักเรียนของผมโพสต์ ความเห็นเกี่ยวกับเรื่อง พิธีสารเกียวโต (Kyoto Protocol) และ กลไกการพัฒนาที่สะอาด (Clean Development Mechanism CDM) ซึ่งผมเคยเกริ่นๆไว้ในตอนสอนวิชา Infrastructure System Development เมื่อภาคการศึกษาที่แล้ว

เลยมานั่งนึกทบทวนสิ่งต่างๆที่เกี่ยวข้องกับเรื่องพวกนี้ ไล่ไปไล่มาก็พบว่าเรื่องทั้งหมดเกิดจากภาวะโลกร้อน <- ที่เชื่อว่าเป็นผลมาจากการปล่อยก๊าซเรือนกระจกจนเกิด green house effect <- ซึ่งก็เป็นผลมาจากการผลิตจากภาคอุตสาหกรรมที่ไม่คำนึงถึงการปล่อยก๊าซเรือนกระจกเหล่านี้ <- ซึ่งก็เกิดมาจากการบริโภคที่เพิ่มสูงขึ้นอย่างรวดเร็วจนทำให้ต้องมีการผลิตทางอุตสาหกรรมมากขึ้นตามไปด้วย
พิธีสารเกียวโต และ CDM
เรื่องพิธีสารเกี่ยวโต และ CDM นั้นเป็นเกิดขึ้นในปี 1997 เป็นข้อเสนอของชาวบราซิล โดยก่อนหน้านั้นมีความพยายามจะลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกภายใต้อนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (UNFCCC) ซึ่งก็ยังไม่มีมาตรการใดๆที่ช่วยได้อย่างเป็นรูปธรรม จนกระทั่งการประชุมในปี 1997 ที่จังหวัดเกียวโต ประเทศญี่ปุ่น จึงเรียกว่า พิธีสารเกียวโต

ภายใต้พิธีสารเกียวโตนั้น มีการกำหนดให้ประเทศที่มีรายชื่ออยู่ในรายการที่ 1 หรือมักเรียกว่า ภาคผนวก 1 (Annex I) ซึ่งก็คือประเทศอุตสาหกรรมทั้งหลาย อาทิ สหรัฐอเมริกา รัสเซีย อังกฤษ ญี่ปุ่น ฯลฯ ต้องลดปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกลงไม่น้อยกว่า 5% จากระดับการปล่อยในปี พ.ศ. 2533 ภายในช่วงปี พ.ศ.2551- 2555

ในการประชุมครั้งนั้นได้มีการนำเสนอเครื่องมือเรียกว่า Flexibility Mechanism หรือกลไกที่ยืดหยุ่น โดยกลไกที่ยืดหยุ่นนี้จะประกอบไปด้วย 3 กลไกย่อย ได้แก่

1) Joint Implementeation (JI)
2) Clean Development Mechanism (CDM)
3) Emission Trading (ET)

แต่กลไกที่เป็นที่พูดถึงกันมากๆก็คือ CDM
CDM คือการที่ให้ประเทศภาคผนวก 1 ที่ถูกบังคับให้ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ไม่ต้องลดเองในประเทศ แต่สามารถสนับสนุนให้ประเทศที่อยู่นอกภาคผนวก 1 ลดแทนตัวเองได้ และจะนับเอาปริมาณก๊าซฯที่ลดได้มาเป็นของตนเอง ซึ่งข้อดีที่ชัดๆคือ หากประเทศในภาคผนวก 1 ซึ่งเป็นประเทศพัฒนาแล้วต้องลดการปล่อยเองอาจจะต้องใช้ค่าใช้จ่ายสูง การสนับสนุนให้ประเทศด้อยพัฒนาลดการปล่อยก๊าซฯจะมาต้นทุนที่ถูกกว่า กลไกนี้จึงทำให้เกิดการซื้อขายเครดิตการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก หรือที่เรียกกันชินว่า carbon credit

จนถึงขณะนี้เป็นเวลาที่กำลังจะถึงปี 2551 ที่เป็นปีที่ประเทศในภาคผนวก 1 ถูกบังคับให้ลดก๊าซฯ แล้ว จึงเริ่มมีการขยับตัวเรื่องการซื้อขาย carbon credit กันอย่างมาก จนถึงขั้นคิดว่าจะมีการตั้งตลาดซื้อขาย carbon credit กันเป็นเรื่องเป็นราวเหมือนตลาดหุ้นเลยทีเดียว


ประเทศไทยเป็นประเทศที่ยังไม่เจริญพอที่จะอยู่ใน ภาคผนวก 1 (เหมือนเป็นความโชคดี) จึงไม่ได้ถูกบังคับให้ลดการปล่อยก๊าซ ในระยะนี้ (แต่อนาคตอาจจะมีการบังคับก็ได้ เมื่อมีการตกลงกันในรอบต่อไป) จึงอยู่ในฐานะที่มีสิทธิ์ได้ประโยชน์จากการขาย carbon credit โดยขณะนี้หลายๆบริษัทที่กระบวนการผลิตก่อให้เกิดก๊าซเรือนกระจกก็คิดที่จะลงทุนปรับกระบวนการผลิต เช่น ติดตั้งเครื่องกำจัดก๊าซฯ เป็นต้น แล้วนับเอาปริมาณก๊าซฯที่ลดได้มา claim เป็น carbon credit เอาไว้ขายให้กับประเทศอื่นๆ อย่างที่เอ่ยมาแล้ว

จนถึงขณะนี้มีโครงการที่ยื่นข้อเสนอที่จะขายคาร์บอนเครดิตในประเทศไทยทั้งหมด 15 โครงการ โดยหากทำได้จริงจะมีคาร์บอนเครดิตทั้งหมดประมาณ 1.24 ล้านตัน คิดเป็นมูลค่า หลายร้อยล้านบาททีเดียว คาดว่าหากเดินหน้าเต็มที่อาจจะมีปริมาณคาร์บอนเครดิตเกิดขึ้นในไทยมากกว่า 20 ล้านตันเลยทีเดียว

ขณะนี้ประเทศไทยก็มีการตั้งองค์กรเรียกว่า องค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก (องค์การมหาชน) เพื่อทำหน้าที่บริหารจัดการ รวมทั้งดำเนินการด้านการรับรองต่างๆ ให้กับโครงการที่จะเสนอเข้าร่วมในการขาย carbon credit ประมาณ 2 เดือนที่แล้วได้คุยกับผู้บริหารผู้รับผิดชอบเรื่องการจัดตั้งองค์กรนี้ ได้ทราบว่ากำลังต้องการกำลังคนอีกมาก ใครเรียนจบมาทางด้านสิ่งแวดล้อม โดยเฉพาะด้านการจัดการสิ่งแวดล้อม ไปสมัครได้เลย ได้เงินเดือนดีทีเดียว


ยังมีประเด็นน่าสนใจ สนุกๆในเรื่องนี้อีก จะมาเล่าในตอนต่อไป...





รถไฟฟ้าสายสีม่วง (ต่อ)

ไม่กี่วันที่ผ่านมา ได้เริ่มย้อนกลับมานั่งคิดในเรื่องการพัฒนาระบบโครงสร้างพื้นฐานของประเทศเรา โดยเอากรณีรถไฟฟ้าสายสีม่วงมาเป็นกรณีศึกษา ว่าเกิดอะไรขึ้น และมีหนทางออกในการปรับปรุงให้การลงทุนในระบบโครงสร้างพื้นฐานทำได้คุ้มค่ามากยิ่งขึ้น

ต้องบอกก่อนว่าการลงทุนในระบบโครงสร้างพื้นฐานนั้นสำคัญมากๆ และมีความสำคัญต่อการพัฒนาประเทศ เหมือนกับองค์กรก็ต้องมีการลงทุนในระบบใหม่ๆ เครื่องจักรใหม่ๆ มิฉะนั้นเครื่องจักรเดิมก็มีแต่เสื่อมไป และก็จะไม่มีเครื่องจักใหม่ๆมาทดแทน และรองรับการขยายตัว ฉันใดก็ฉันนั้น

แต่คำถามก็คือ จะเลือกลงทุนอย่างไร ภายใต้ข้อจำกัดด้านการเงิน (มีงบประมาณจำกัด) จะเลือกลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานอะไรก่อน อะไรหลัง หากมองในมุมที่กว้างขึ้น โครงสร้างพื้นฐานทางสังคมอื่นๆอีกมากมากก็กำลังรองบประมาณ เช่น การศึกษา การสาธารณสุข ความมั่นคง ฯลฯ

ผมจึงมองว่าในเรื่องการพัฒนาระบบโครงสร้างพื้นฐานนั้น หลักการที่สำคัญที่สุดที่ประเทศเราต้องคำนึงถึงในระยะนี้คือ "การจัดลำดับความสำคัญ" โครงการไหนควรมาก่อน? โครงการไหนควรมาหลัง? โครงการไหนควรมาแล้ว? โครงการไหนควรรอก่อน?

ในกรณีของรถไฟฟ้าสายสีม่วง (บางใหญ่-บางซื่อ) นั้นมีประเด็นที่น่าคิดหลายประการ เช่น
  • การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) กำลังผลักดันให้เริ่มก่อสร้างรถไฟฟ้าสายสีม่วง (บางใหญ่-บางซื่อ) โดยระบุถึงความเหมาะสม โดยเฉพาะในเรื่องความพร้อม เช่น ออกแบบรายละเอียดเรียบร้อยแล้ว รายงานการศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อมผ่านความเห็นชอบจากคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติแล้ว การเวนคืนที่ดินไม่มีปัญหา ฯลฯ
  • ขนส่งมวลชนระบบรางตามแผนแม่บทที่ สำนักงานนโยบายและแผนขนส่งและจราจร (สนข.) ได้ศึกษาไว้นั้นมีทั้งหมด 7 สาย ได้แก่ สายสีน้ำเงิน (บางซื่อ-หัวลำโพง) สายสีแดงเข้ม (รังสิต-บางซื่อ-มหาชัย) สายสีเขียวอ่อน (พรานนก-สนามกีฬา-อ่อนนุช-สมุทรปราการ) สายสีเขียวเข้ม(บางหว้า-ตากสิน-สยาม-หมอชิต-สะพานใหม่) สายสีแดงอ่อน (ตลิ่งชัน-สุวรรณภูมิ) สายสีส้ม (บางกะปิ-บางบำหรุ) และ สายสีม่วง (บางใหญ่-บางซื่อ-ราษฎรบูรณะ)
  • ในขณะนี้ (7 ตค.2550) โครงการรถไฟฟ้าสายมีสีม่วง ได้ผ่านความเห็นชอบจากสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) หรือที่มักเรียกกันติดปากว่า สภาพัฒน์ และได้นำเรื่องเข้าสู่ ครม. อย่างรวดเร็วในวันอังคารที่ผ่านมา (2 ตค.2550) และ ครม.ได้มีมติอนุมัติ กรอบลงทุน 3 หมื่นล้านบาท
  • รายละเอียดของการอนุมัตินั้นบอกว่าให้แยกการดำเนินงานระหว่างการก่อสร้างงานโยธา และการวางระบบเดินรถและตัวรถ
  • ผู้ว่า รฟม. ได้ให้ข้อมูลว่าอาจจะมีการประกวดราคาได้ในต้นปีหน้า (ปี2551)

จากข้อมูลที่ได้กล่าวมาทั้งหมดนี้ ก็ดูเหมือนกับว่าทุกอย่างจะดำเนินไปตามขั้นตอน โครงการได้ครับความเห็นชอบจากทั้งแผนแม่บท สภาพัฒน์ คณะรัฐมนตรี คณะกรรมการสิ่งแวดล้อม ฯลฯ

ในฐานะผู้ที่ติดตามเรื่องราวต่างๆ ในฐานะสมาชิกคนกรุงเทพมหานคร ในฐานะผู้เสียภาษีให้กับรัฐ ขอตั้งประเด็นคำถามไว้ดังนี้

  1. รถไฟฟ้าสายสีม่วงมีลำดับความสำคัญอยู่ในอันดับที่เท่าใด เมื่อเปรียบเทียบกับรถไฟฟ้าสายอื่นๆอีก 6 สายในแผนแม่บทฯ
  2. ได้มีการนำเอาบทเรียนจากการพัฒนาระบบรถไฟฟ้า ทั้ง 2 สายที่มีอยู่แล้วมาใช้ในการพัฒนาหรือไม่ อาทิ การที่มีผู้โดยสารต่ำกว่าปริมาณที่พยากรณ์ไว้มาก เช่น สายสีน้ำเงิน ประมาณการไว้ ประมาณ 430,000 เที่ยวต่อวันในปีแรกที่เปิดให้บริการ ในขณะที่ปริมาณจริงอยู่ที่ไม่เกิน 2 แสนเที่ยวต่อวัน ในขณะที่ต้องการประมาณ 3 แสนเที่ยวต่อวันเพื่อให้เกิดความคุ้มค่าในการให้บริการ
  3. การที่เลือกที่จะเดินหน้าก่อสร้างงานโยธาไปก่อน โดยยังไม่มีความชัดเจนในเรื่องการเดินรถ ว่าจะให้เอกชนมาเดินรถ หรือรัฐจะทำเอง นั้นจะทำให้เกิดปัญหาในอนาคตหรือไม่
  4. หากในอนาคตเมื่อก่อสร้างจะแล้วเสร็จ แต่ไม่มีเอกชนที่สนใจจะให้บริการเดินรถ เนื่องจากทราบว่ารายได้จากค่าโดยสารไม่พอแม้แต่จะเป็นค่าน้ำค่าไฟ ค่าพนักงาน ค่าซ่อมบำรุง (นี่ยังไม่ต้องพูดถึงการจ่ายคืนเงินลงทุน) จะทำอย่างไร รัฐจะต้องเดินหน้าลงทุนเพื่อให้บริการ แล้วแบกรับภาระขาดทุนมหาศาลหรือไม่ และแหล่งเงินที่จะอุดหนุนภาระขาดทุนที่ว่านี้จะมาจากไหน (หวังว่าไม่ใช่จากภาษีที่พวกเราจ่ายๆกันอยู่ทุกปี)

ย้อนกลับมาที่ประเด็นสำคัญที่ได้เกริ่นไว้ข้างต้น "การจัดลำดับความสำคัญ"

  • ผมอยากเห็นการจัดลำดับความสำคัญของการพัฒนาระบบรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนของกรุงเทพมหานคร และให้รัฐบาลเดินตามลำดับ เพื่อให้เกิดการใช้งบประมาณอย่างคุ้มค่าสูงสุด
  • การจัดลำดับความสำคัญ จะช่วยไม่ให้เกิดภาวะขาดทุนให้กับรถไฟฟ้าสายสีม่วง โดยเมื่อพัฒนารถไฟฟ้าสายอื่นๆจนระบบมีความครบถ้วน ครอบคลุมพื้นที่ของกรุงเทพมหานครอย่างดีแล้ว ปริมาณผู้โดยสารรถไฟฟ้าสายที่ขนคนจากชานเมือง (รวมทั้งสีม่วง) ก็จะมากขึ้นจนไม่ประสบกับภาวะขาดทุน จนต้องเองเงินภาษีมาอุดหนุน
  • การจัดลำดับความสำคัญจะทำให้เกิดความเป็นธรรมในการพัฒนาระบบ มิใช่อ้างเรื่องความพร้อมของการเริ่มงาน แต่ต้องอ้างเรื่องความคุ้มค่า ทั้งด้านเศรษฐกิจ ด้านสังคม และด้านการเงิน มิฉะนั้นหากผมเป็นผู้ว่า รฟม. แล้วอยากจะให้สร้างสายไหนก่อน ก็รีบๆจัดแจงให้มีการตระเตรียมความพร้อมทั้งออกแบบ ทั้งเวนคืน สารพัด ก็เริ่มโครงการได้ อย่างนั้นหรือ

ท้ายที่สุด ก่อนที่จะเลิกบ่น ขอเรียกร้องสิ่งต่อไปนี้ (ทั้งๆที่ก็คิดว่าไม่น่าจะเกิดขึ้นได้)

  1. ขอให้มีการเปิดเผยรายงานการศึกษาต่างๆที่เกี่ยวข้องกับระบบรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนทั้งหมด ทั้งรายงานการศึกษาแผนแม่บท รายงานการศึกษาเฉพาะสาย รายงานการศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อม และรายงานการศึกษาอื่นๆที่เกี่ยวข้อง รายงานเหล่านี้ใช้เงินภาษีของประชาชนไปจ้างบริษัทที่ปรึกษาทำการศึกษา ผลการศึกษาจึงควรเป็นเอกสารสาธารณะ ให้ประชาชนสามารถศึกษา รวมทั้งตาวจสอบได้
  2. ขอให้มีการเปิดเผยรายละเอียดการพิจารณาในขั้นตอนต่างๆ ได้แก่ รายละเอียดผลการพิจารณาจากสภาพัฒน์ และการพิจารณาในขั้นตอนอื่นๆที่เกี่ยวข้อง
  3. ขอให้พวกเราเฝ้าดูการลงทุนในระบบโครงสร้างพื้นฐานต่างๆในอนาคต โดยมิใช่คิดว่าการลงทุนนั้นเป็นเสมือนของที่เราได้มาเปล่าๆลงทุนอย่างไรก็ได้ ลงทุนอะไรก็ได้ แต่ควรคิดว่าการลงทุนนั้นมาจากเงินของเราเองจะต้องลงทุนให้เกิดความคุ้มค่าที่สุด

และสุดท้ายนี้ ขอให้มีการตรวจสอบรายชื่อเจ้าของที่ดินผืนใหญ่ ย่านบางใหญ่ ว่ามีใครเป็นเจ้าของ มีการเปลี่ยนมือเมื่อไร และมีการโยงใยไปหาผู้มีส่วนเกี่ยวข้องกับโครงการนี้บ้างหรือไม่ !



มืออาชีพ มือสมัครเล่น

ช่วงสองสามสัปดาห์นี้ได้เริ่มๆเรียนกอล์ฟจาก "โปร" ที่ได้รับการแนะนำมา ความจริงเคยฝึกกอล์ฟอยู่พักหนึ่ง ประมาณครึ่งปี เมื่อประมาณ 2 ปีที่แล้ว แต่เป็นการหัดเอง อ่านจากหนังสือ แล้วหัดตาม ดูวีดีโอ แล้วฝึกตาม ปรากฎว่าได้ผลดีมาก ตีได้มาตรฐาน ไม่ว่าใช้เหล็กเบอร์อะไร ก็ตีได้ระยะเท่ากันหมด เลยคิดว่าไม่ไหวละ คงจะไม่รุ่ง ได้เรียนรู้ว่าในบางเรื่องการอ่านหนังสือ หรือการเรียนรู้ด้วยตัวเอง ก็ไม่ได้ผล จำเป็นต้องให้
"ครูฝึกมืออาชีพ" หรือที่เรียกว่า "โปร" มาสอน

พอนึกๆถึงเรื่องนี้เลยนึกขึ้นได้ถึงเรื่องความแตกต่างระหว่างมือโปรหรือ "มืออาชีพ" กับ "มือสมัครเล่น" ซึ่งเคยได้รับการสอนมาจากอาจารย์ท่านหนึ่ง ในขณะเรียนอยู่ ซึ่งตอนนั้นกำลังคร่ำเคร่ง และเคร่งเครียด กับการทำ Dissertation อยู่

ในขณะนั้นซึ่งกำลังสับสนกับการทำ dissertation และในช่วงแรกๆก็ทำออกมาได้ไม่ใคร่จะได้เรื่องได้ราวนัก จนวันหนึ่งอาจารย์ที่ปรึกษาท่านที่ว่านี้ก็ได้เรียกไปพบแล้วถามว่า

"คุณรู้รึเปล่าว่า มืออาชีพ กับ มือสมัครเล่น น่ะ มันแตกต่างกันยังไงบ้าง"
"I am not so sure"
"มีอยู่ 2 เรื่องที่แตกต่างกันมากๆ หนึ่ง มืออาชีพจะสามารถทำงานได้ทุกเมื่อ ทุกเวลา ทุกสถานะ โดยไม่มีข้อจำกัด ในขณะที่มือสมัครเล่นมักจะเอาเรื่อง/ปัญหา/อุปสรรครอบๆตัวมาเป็นข้ออ้างในการผลัดงานออกไป"
"เรื่องที่ สอง มืออาชีพจะทำงานอย่างมีความต่อเนื่อง ทุก step มีความหมาย และมีที่มาที่ไป"
"อืม..."
"ถ้าไปดูคนสองคนที่กำลังเล่นหมากรุกกัน หากดูการเดินเพียงครั้งเดียวไม่มีทางรู้หรอกว่าคนไหนเป็นมืออาชีพ คนไหนเป็นมือสมัครเล่น เพราะมือสมัครเล่นก็สามารถเดินหมากได้ดีๆอยู่บ่อยๆเหมือนกัน แต่ถ้าเฝ้าดูไปสักหกเจ็ดก้าว จะเริ่มเห็น ทุกก้าวของมืออาชีพจะมีที่มาที่ไหน เกิดจากการวางแผนและเดินในก้าวที่ผ่านๆมา และจะเดินอย่างต่อเนื่อง ไม่ออกอาการเป๋ ในขณะที่มือสมัครเล่นจะออกเป็นลักษณะแบบแก้ปัญหาเป็นก้าวๆไป"
"..."

จากวันนั้นที่ได้อาจารย์เตือนสติ ก็พยายามปรับปรุงตัวเองให้มีความเป็นมืออาชีพมากยิ่งขึ้น แล้วก็ยังเก็บเอาเรื่องนี้มาสอนให้คนที่ใกล้ชิด นักเรียน นักศึกษา และเพื่อนร่วมงานอยู่เป็นประจำ

คุณล่ะ "เป็นมืออาชีพ" แล้วหรือยัง