07 November 2007

โลกร้อน vs แก๊สโซฮอล (1)

มีนักเรียนของผมโพสต์ ความเห็นเกี่ยวกับเรื่อง พิธีสารเกียวโต (Kyoto Protocol) และ กลไกการพัฒนาที่สะอาด (Clean Development Mechanism CDM) ซึ่งผมเคยเกริ่นๆไว้ในตอนสอนวิชา Infrastructure System Development เมื่อภาคการศึกษาที่แล้ว

เลยมานั่งนึกทบทวนสิ่งต่างๆที่เกี่ยวข้องกับเรื่องพวกนี้ ไล่ไปไล่มาก็พบว่าเรื่องทั้งหมดเกิดจากภาวะโลกร้อน <- ที่เชื่อว่าเป็นผลมาจากการปล่อยก๊าซเรือนกระจกจนเกิด green house effect <- ซึ่งก็เป็นผลมาจากการผลิตจากภาคอุตสาหกรรมที่ไม่คำนึงถึงการปล่อยก๊าซเรือนกระจกเหล่านี้ <- ซึ่งก็เกิดมาจากการบริโภคที่เพิ่มสูงขึ้นอย่างรวดเร็วจนทำให้ต้องมีการผลิตทางอุตสาหกรรมมากขึ้นตามไปด้วย
พิธีสารเกียวโต และ CDM
เรื่องพิธีสารเกี่ยวโต และ CDM นั้นเป็นเกิดขึ้นในปี 1997 เป็นข้อเสนอของชาวบราซิล โดยก่อนหน้านั้นมีความพยายามจะลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกภายใต้อนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (UNFCCC) ซึ่งก็ยังไม่มีมาตรการใดๆที่ช่วยได้อย่างเป็นรูปธรรม จนกระทั่งการประชุมในปี 1997 ที่จังหวัดเกียวโต ประเทศญี่ปุ่น จึงเรียกว่า พิธีสารเกียวโต

ภายใต้พิธีสารเกียวโตนั้น มีการกำหนดให้ประเทศที่มีรายชื่ออยู่ในรายการที่ 1 หรือมักเรียกว่า ภาคผนวก 1 (Annex I) ซึ่งก็คือประเทศอุตสาหกรรมทั้งหลาย อาทิ สหรัฐอเมริกา รัสเซีย อังกฤษ ญี่ปุ่น ฯลฯ ต้องลดปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกลงไม่น้อยกว่า 5% จากระดับการปล่อยในปี พ.ศ. 2533 ภายในช่วงปี พ.ศ.2551- 2555

ในการประชุมครั้งนั้นได้มีการนำเสนอเครื่องมือเรียกว่า Flexibility Mechanism หรือกลไกที่ยืดหยุ่น โดยกลไกที่ยืดหยุ่นนี้จะประกอบไปด้วย 3 กลไกย่อย ได้แก่

1) Joint Implementeation (JI)
2) Clean Development Mechanism (CDM)
3) Emission Trading (ET)

แต่กลไกที่เป็นที่พูดถึงกันมากๆก็คือ CDM
CDM คือการที่ให้ประเทศภาคผนวก 1 ที่ถูกบังคับให้ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ไม่ต้องลดเองในประเทศ แต่สามารถสนับสนุนให้ประเทศที่อยู่นอกภาคผนวก 1 ลดแทนตัวเองได้ และจะนับเอาปริมาณก๊าซฯที่ลดได้มาเป็นของตนเอง ซึ่งข้อดีที่ชัดๆคือ หากประเทศในภาคผนวก 1 ซึ่งเป็นประเทศพัฒนาแล้วต้องลดการปล่อยเองอาจจะต้องใช้ค่าใช้จ่ายสูง การสนับสนุนให้ประเทศด้อยพัฒนาลดการปล่อยก๊าซฯจะมาต้นทุนที่ถูกกว่า กลไกนี้จึงทำให้เกิดการซื้อขายเครดิตการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก หรือที่เรียกกันชินว่า carbon credit

จนถึงขณะนี้เป็นเวลาที่กำลังจะถึงปี 2551 ที่เป็นปีที่ประเทศในภาคผนวก 1 ถูกบังคับให้ลดก๊าซฯ แล้ว จึงเริ่มมีการขยับตัวเรื่องการซื้อขาย carbon credit กันอย่างมาก จนถึงขั้นคิดว่าจะมีการตั้งตลาดซื้อขาย carbon credit กันเป็นเรื่องเป็นราวเหมือนตลาดหุ้นเลยทีเดียว


ประเทศไทยเป็นประเทศที่ยังไม่เจริญพอที่จะอยู่ใน ภาคผนวก 1 (เหมือนเป็นความโชคดี) จึงไม่ได้ถูกบังคับให้ลดการปล่อยก๊าซ ในระยะนี้ (แต่อนาคตอาจจะมีการบังคับก็ได้ เมื่อมีการตกลงกันในรอบต่อไป) จึงอยู่ในฐานะที่มีสิทธิ์ได้ประโยชน์จากการขาย carbon credit โดยขณะนี้หลายๆบริษัทที่กระบวนการผลิตก่อให้เกิดก๊าซเรือนกระจกก็คิดที่จะลงทุนปรับกระบวนการผลิต เช่น ติดตั้งเครื่องกำจัดก๊าซฯ เป็นต้น แล้วนับเอาปริมาณก๊าซฯที่ลดได้มา claim เป็น carbon credit เอาไว้ขายให้กับประเทศอื่นๆ อย่างที่เอ่ยมาแล้ว

จนถึงขณะนี้มีโครงการที่ยื่นข้อเสนอที่จะขายคาร์บอนเครดิตในประเทศไทยทั้งหมด 15 โครงการ โดยหากทำได้จริงจะมีคาร์บอนเครดิตทั้งหมดประมาณ 1.24 ล้านตัน คิดเป็นมูลค่า หลายร้อยล้านบาททีเดียว คาดว่าหากเดินหน้าเต็มที่อาจจะมีปริมาณคาร์บอนเครดิตเกิดขึ้นในไทยมากกว่า 20 ล้านตันเลยทีเดียว

ขณะนี้ประเทศไทยก็มีการตั้งองค์กรเรียกว่า องค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก (องค์การมหาชน) เพื่อทำหน้าที่บริหารจัดการ รวมทั้งดำเนินการด้านการรับรองต่างๆ ให้กับโครงการที่จะเสนอเข้าร่วมในการขาย carbon credit ประมาณ 2 เดือนที่แล้วได้คุยกับผู้บริหารผู้รับผิดชอบเรื่องการจัดตั้งองค์กรนี้ ได้ทราบว่ากำลังต้องการกำลังคนอีกมาก ใครเรียนจบมาทางด้านสิ่งแวดล้อม โดยเฉพาะด้านการจัดการสิ่งแวดล้อม ไปสมัครได้เลย ได้เงินเดือนดีทีเดียว


ยังมีประเด็นน่าสนใจ สนุกๆในเรื่องนี้อีก จะมาเล่าในตอนต่อไป...





No comments: