22 February 2008

Public Private Partnerships ภาคปฏิบัติ

รูปแบบของการใช้เอกชนมีส่วนร่วมในการลงทุนในโครงการภาครัฐ หรือที่เรียกกันว่า Public Private Partnerships หรือเรียกสั้นๆว่า PPP หรือในบางประเทศก็เรียกว่า P3 (P Three) นั้นเป็นสิ่งที่ประเทศต่างๆทั่วโลกทั้งประเทศที่พัฒนาแล้ว (อังกฤษ สหรัฐอเมริกา ญี่ปุ่น ออสเตรเลีย ฯลฯ) และประเทศที่กำลังพัฒนา (จีน มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ เม็กซิโก ชิลี ฯลฯ) ต่างๆก็ใช้เป็นวิธีในการพัฒนาระบบโครงสร้างพื้นฐานที่เดิมต้องใช้เงินภาษีที่เก็บจากประชาชน หรือเงินกู้จากต่างประเทศมาลงทุน หากลองเข้ากูเกิลแล้วใส่คำว่า Public Private Parthership หรือ PPP เคาะ enter ก็จะพบว่ามีตัวอย่างโครงการ หรือหลักการที่ถูกพูดถึงอยู่มากมาย

ในประเทศไทย ในช่วงหลายทศวรรษที่ผ่านมาก็ได้มีการใช้ PPP ในรูปแบบต่างๆ โดยเฉพาะการให้สัมปทานภาคเอกชนมาลงทุนในโครงการภาครัฐ (อาทิ ทางด่วนของการทางพิเศษแห่งประเทศไทย รถไฟฟ้าใต้ดิน รถไฟฟ้าบีทีเอส ระบบโทรศัพท์เคลื่อนที่ ฯลฯ) และการแปรรูปหรือพูดง่ายๆคือขายกิจการให้กับภาคเอกชน (อาทิ ปตท. เป็นต้น)

ภาพที่เห็นจากการให้ภาคเอกชนมาร่วมลงทุนในรูปแบบต่างๆ โดยเฉพาะรูปแบบทั้ง 2 ดังที่กล่าวมานั้น มักจะถูกพูดถึงในลักษณะของความน่ารังเกียจ การให้เอกชนมาลงทุนเหมือนการให้เอกชนมาผูกขาด เหมือนการขายสมบัติของชาติ ซึ่งหากในข้อเท็จจริงการใช้ PPP นั้นเลวร้ายเช่นนั้น ประเทศต่างๆทั่วโลกคงจะไม่ใช้วิธีนี้ในการพัฒนาระบบโครงสร้างพื้นฐานมานับไม่ถ้วนอย่างที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน

รัฐบาลมีหน้าที่ที่จะต้องคิดกันให้ถี่ถ้วนกันมากๆในการใช้ PPP ทำอย่างไรที่จะได้ประโยชน์อย่างแท้จริง ประเด็นที่จะต้องคิด และจะต้องพูดถึงมีอยู่หลายประการ สิ่งแรกที่จะต้องคิดคือ


*เหตุผลของการใช้ PPP*


การใช้ PPP ของประเทศต่างๆนั้นมีเหตุผลที่ไม่เหมือนกัน โดยเหตุผลหลักนั้นมีอยู่ 2 ประการได้แก่

1) ภาคเอกชนทำงานมีประสิทธิภาพมากกว่ารัฐ ฉะนั้นให้ภาคเอกชนดำเนินโครงการก็น่าจะทำให้มีประสิทธิภาพมากกว่า ค่าบริการที่เก็บจากประชาชนก็น่าจะต่ำกว่าการที่รัฐจะดำเนินการเอง

2) รัฐขาดงบประมาณลงทุน หรือมีงบประมาณแต่น่าจะนำไปใช้ในการลงทุนด้านอื่นๆที่ไม่สามารถให้ภาคเอกชนมาลงทุนได้ อาทิ ด้านการศึกษา ด้านความมั่นคง ฯลฯ

ความจริงแล้วในทุกๆประเทศก็มีเหตุผลทั้ง 2 ประการนี้ในการใช้ PPP แต่แต่ละประเทศก็จะยกเหตุผลใดเหตุผลหนึ่งเป็นเหตุผลหลัก อาทิ ประเทศที่พัฒนาแล้วอย่างประเทศอังกฤษและออสเตรเลีย บอกไว้อย่างชัดเจนว่าใช้ PPP เพราะเชื่อว่าภาคเอกชนสามารถบริหารจัดการได้อย่างมีประสิทธิภาพมากกว่า บริหารความเสี่ยงได้เก่งกว่า ทำให้ต้นทุนต่ำว่าการให้รัฐดำเนินการ ฉะนั้นในประเทศเหล่านี้ จะต้องให้ความสำคัญกับการพิสูจน์ว่าแต่ละโครงการนั้นให้ภาคเอกชนลงทุนจะได้ต้นทุนที่ต่ำกว่าการให้ภาครัฐทำ โดยมีการวิเคราะห์ที่เรียกว่า Value for Money

ส่วนประเทศที่กำลังพัฒนาอย่าง ประเทศจีน ประเทศต่างๆในทวีปอเมริกาใต้นั้น มีเหตุผลในการใช้ PPP อย่างชัดเจนเช่นกัน คือการที่ภาครัฐขาดงบประมาณเพียงพอที่จะลงทุนในโครงสร้างพื้นฐาน และประเทศก็ไม่สามารถที่จะรอได้ต้องมีโครงการโดยเร็ว เช่นประเทศจีนเกิดการพัฒนาเป็นอย่างมาก มีกิจกรรมทางเศรษฐกิจ ธุรกิจ การผลิต เกิดขึ้นมากมายทำให้ต้องการโรงไฟฟ้าเพิ่มขึ้นอีกหลายแห่ง มีมูลค่ามหาศาล และรัฐบาลก็ไม่สามารถที่จะนำเงินจำนวนมหาศาลขนาดนี้มาลงทุนในการสร้างโรงฟฟ้าแต่เพียงอย่างเดียว จึงต้องให้ภาคเอกชนมาลงทุน หรือในอเมริกาใต้มีปัญหาขาดแคลนโครงสร้างพื้นฐานด้านการขนส่ง อาทิ ถนน สะพาน รถไฟ เป็นต้น ในกรณีเช่นนี้รัฐไม่มีทางเลือก การพิสูจน์ว่าภาคเอกชนทำได้ต้นทุนต่ำกว่ารัฐนั้นอาจจะไม่ใช่สิ่งที่สำคัญที่สุดอีกต่อไป แม้หากปรากฎว่ารัฐทำได้ต้นทุนถูกกว่าแต่ก็ไม่สามารถจะรอให้รัฐมีเงินก่อนจึงจะลงทุนได้ เนื่องจากความเสียหายจากการที่ไม่มีโครงสร้างพื้นฐานอาจจะมากกว่า

ฉะนั้นในสถานการณ์เช่นนี้ รัฐจะต้องให้ความสำคัญกับการรักษาประโยชน์ของแผ่นดินให้มากที่สุด กล่าวอย่างชัดๆคือ ในกรณีที่เป็นการให้สัมปทานกับภาคเอกชนมาลงทุนนั้นเสมือนเป็นการมองการผูกขาดธุรกิจให้กับเอกชน รัฐจะต้องมั่นใจว่าสัญญาดังกล่าวมีการแบ่งปันผลประโยชน์ระหว่าภาคเอกชนและภาครัฐอย่างเหมาะสม ถ้าจะกล่าวให้เจาะจงไปกว่านี้อีก ก็จะต้องกล่าวว่า รัฐจะต้องให้เอกชนแบ่งประโยชน์คืนให้กับภาครัฐมากที่สุดเท่าที่จะทำได้โดยเอกชนยังคงได้กำไรในระดับที่เหมาะสม ไม่มากเกินปกติ (Project NPV เท่ากับหรือใกล้เคียง 0) คำว่าเหมาะสมนั้นหมายถึงเหมาะสมกับแรงที่ลงไปและเหมาะสมกับความเสียงที่ต้องแบกรับ เพื่อไม่ให้ถูกเรียกว่า "สัญญาทาส"

จะเห็นว่าเหตุผลของการใช้ PPP นั้นมีความสำคัญเป็นอย่างมาก แต่ละโครงการที่จะใช้ PPP จะต้องมีความชัดเจนว่ามีเหตุผลใดระหว่าง ประสิทธิภาพ หรือ ขาดแคลนงบประมาณ เป็นเหตุผลหลัก ซึ่งจะนำมาสู่การให้ความสำคัญกับการวิเคราะห์โครงการเพื่อให้ได้บรรลุวัตถุประสงค์ที่ตั้งไว้ ได้อย่างใจ และเกิดประโยชน์ต่อประเทศชาติมากที่สุดต่อไป

6 comments:

Anonymous said...

1. ประเด็นที่ว่ารัฐจะต้องให้เอกชนแบ่งประโยชน์คืนให้กับภาครัฐมากที่สุดเท่าที่จะทำได้โดยเอกชนยังคงได้กำไรในระดับที่เหมาะสม ในทางกลับกันภาคเอกชนก็ต้องมั่นใจในผลตอบแทนจากการลงทุนให้คุ้มกับความเสี่ยง ความเสี่ยงมากก็ควรจะมีอัตราผลตอบแทนที่สูง
2. ในทางกลับกัน ถ้าภาครัฐพร้อมที่จะรับผลกำไรคืน ดังนั้นภาครัฐก็ต้องพร้อมที่จะร่วมรับความเสี่ยงจากการลงทุนด้วย
3. ในข้อ 1 และข้อ 2. Government support และ Risk-return trade-off จะทำอย่างไร ภาครัฐควรจะมองในเรื่องของ Socio-economic ภาคเอกชนคงมองในเรื่องของ Return
4. ในทางปฎิบัติโครงการ PPP หลายโครงการได้รับการอนุมัติโครงการอย่างเร่งด่วน โดยแรงกดดันจากการเมือง โดยไม่ฟังเสียงทักท้วงจากหลายๆฝ่าย การศึกษาความเป็นไปได้ของโครงการว่าคุ้มทุน จริงๆอาจจะไม่ใช่

Santi Ch. said...

- ข้อ 1.

ถูกต้องครับ ใครรับความเสี่ยงก็จะต้องได้ผลตอบแทนหรือกำไร"ในระดับที่เหมาะสม" ซึ่งหมายถึงในระดับที่เหมาะสมกับความเสี่ยง ฉะนัันการแบ่งรายได้ให้กับรัฐในกรณีที่มีกำไรมากกว่า "ระดับที่เหมาะสม" โดยหากเอกชนที่มาลงทุนเมื่อคำนวณแล้วได้ NPV เท่ากับ 0 โดยใช้ discount rate ที่เหมาะสมกับความเสี่ยง ก็ถือว่าได้กำไร "ในระดับที่เหมาะสม"แล้ว

- ข้อ 2
ข้อนี้ถูกต้องครับ แต่ไม่ถูกทั้งหมด ในบางกรณ๊รัฐก็ควรได้ผลกำไรคืนด้วยแม้จะไม่ต้องรับความเสี่ยง ซึ่งเป็น กรณีที่หากให้เอกชนรายได้รายหนึ่งรับผิดชอบทั้งหมดแล้ว และเมื่อวิเคราะห์แล้วเอกชนนั้นๆจะมีกำไร "เกิน" ระดับที่เหมาะสม โดยเอกชนนั้นๆได้แบกรับความเสี่ยงทั้งหมด (และแน่นอน คิด discount rate ที่สูงพอที่จะ cover ความเสี่ยงที่รับแล้ว)ฉะนั้นในกรณีนี้รัฐก็ควรที่จะได้รับแบ่งผลกำไร มิฉะนั้นจะกลายเป็นยื่นธุรกิจที่ผูกขาดให้กับเอกชน (ธุรกิจ infrastructure โดยส่วนใหญ่เป็น natural monopoly)

- ข้อ 3 เรื่องการกำหนดระดับ government support และ risk ที่เหมาะสมนั้นเป็นเรื่องยาก แต่ก็มีความพยายามจะทำอยู่โดยมีงานวิจัยที่พยายามเสนอแนวทางการวิเคราะห์มูลค่า โดยหากสามารถประเมินมูลค่าของทั้ง gov support และ risk ได้ ก็ไม่ยากที่จะกำหนดให้เหมาะสม

- ข้อ 4 การตัดสินใจในเรื่อง PPP ต้องแยกเป็น 2 เรื่องคือ 1) การตัดสินใจลงทุนโครงการ คือการตัดสินใจว่าโครงการนั้นๆน่าลงทุนหรือไม่ในมุมมองของรัฐบาล โดยต้องวิเคราะห์ทั้ง financial และ socioeconomic return เมื่อผลออกมาว่าคุ้มค่า ควรลงทุนแล้ว จึงมาตัดสินใจประเด็นที่ 2 คือ 2) การตัดสินใจใช้ PPP ซึ่งเป็นการตัดสินใจว่าการใช้ PPP นั้นจะดีกว่าหรือด้อยกว่าการที่ภาครัฐลงทุนเอง ฉะนั้นจะคิดว่าใช้ PPP หรือไม่ กับโครงการคุ้มหรือไม่คุ้มค่า นั้นอาจจะคนละเรื่องกัน (โดยส่วนใหญ่)

ขอบคุณครับ สำหรับความเห็น และยินดีที่จะแลกเปลี่ยนกันต่อไป

Anonymous said...

โครงการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนของไทยนั้น ในการลงทุน ใช้เหตุผลใดระหว่าง ประสิทธิภาพ หรือ การขาดแคลนงบประมาณในการลงทุน แล้วเหมาะสม หรือไม่ ในการที่จะให้เกิดประโยชน์ต่อประเทศชาติมากที่สุด

Anonymous said...

การแปรรูป (Privatization)นั้น เป็นการลดความเสี่ยงของภาครัฐ ในเรื่องต่างๆ รวมทั้งการบริหารจัดการ เนื่องจากเอกชนบริหารจัดการได้มีประสิทธิภาพมากกว่าภาครัฐ ซึ่งการแปรรูปนั้นมีแนวโน้มที่หลายประเทศให้ความสนใจเมื่อหลายปีก่อน ร่วมทั้งประเทศไทยด้วย แต่ทำไมระยะหลังนี้ มีการต่อต้านจากหลายฝ่าย ในความคิดเห็นส่วนตัวนั้น การแปรรูปนั้นเป็นเรื่องที่น่าสนใจ การแปรรูปมีข้อบกพร่องตรงไหน ต้องปรับเปลี่ยนอย่างไร เพื่อเป็นประโยชน์ในการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานของรัฐ เนื่องจากแนวความคิดในเรื่องการแปรรูปเป็นสิ่งที่ดี

Anonymous said...

ขอบคุณมากค่ะ สำหรับบทความที่นำมาแบ่งปันให้กัน

ศึกษาต่อต่างประเทศ said...

ขอบคุณสำหรับข้อมูลดีดี ค่ะ