07 November 2007

รถไฟฟ้าสายสีม่วง (ต่อ)

ไม่กี่วันที่ผ่านมา ได้เริ่มย้อนกลับมานั่งคิดในเรื่องการพัฒนาระบบโครงสร้างพื้นฐานของประเทศเรา โดยเอากรณีรถไฟฟ้าสายสีม่วงมาเป็นกรณีศึกษา ว่าเกิดอะไรขึ้น และมีหนทางออกในการปรับปรุงให้การลงทุนในระบบโครงสร้างพื้นฐานทำได้คุ้มค่ามากยิ่งขึ้น

ต้องบอกก่อนว่าการลงทุนในระบบโครงสร้างพื้นฐานนั้นสำคัญมากๆ และมีความสำคัญต่อการพัฒนาประเทศ เหมือนกับองค์กรก็ต้องมีการลงทุนในระบบใหม่ๆ เครื่องจักรใหม่ๆ มิฉะนั้นเครื่องจักรเดิมก็มีแต่เสื่อมไป และก็จะไม่มีเครื่องจักใหม่ๆมาทดแทน และรองรับการขยายตัว ฉันใดก็ฉันนั้น

แต่คำถามก็คือ จะเลือกลงทุนอย่างไร ภายใต้ข้อจำกัดด้านการเงิน (มีงบประมาณจำกัด) จะเลือกลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานอะไรก่อน อะไรหลัง หากมองในมุมที่กว้างขึ้น โครงสร้างพื้นฐานทางสังคมอื่นๆอีกมากมากก็กำลังรองบประมาณ เช่น การศึกษา การสาธารณสุข ความมั่นคง ฯลฯ

ผมจึงมองว่าในเรื่องการพัฒนาระบบโครงสร้างพื้นฐานนั้น หลักการที่สำคัญที่สุดที่ประเทศเราต้องคำนึงถึงในระยะนี้คือ "การจัดลำดับความสำคัญ" โครงการไหนควรมาก่อน? โครงการไหนควรมาหลัง? โครงการไหนควรมาแล้ว? โครงการไหนควรรอก่อน?

ในกรณีของรถไฟฟ้าสายสีม่วง (บางใหญ่-บางซื่อ) นั้นมีประเด็นที่น่าคิดหลายประการ เช่น
  • การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) กำลังผลักดันให้เริ่มก่อสร้างรถไฟฟ้าสายสีม่วง (บางใหญ่-บางซื่อ) โดยระบุถึงความเหมาะสม โดยเฉพาะในเรื่องความพร้อม เช่น ออกแบบรายละเอียดเรียบร้อยแล้ว รายงานการศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อมผ่านความเห็นชอบจากคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติแล้ว การเวนคืนที่ดินไม่มีปัญหา ฯลฯ
  • ขนส่งมวลชนระบบรางตามแผนแม่บทที่ สำนักงานนโยบายและแผนขนส่งและจราจร (สนข.) ได้ศึกษาไว้นั้นมีทั้งหมด 7 สาย ได้แก่ สายสีน้ำเงิน (บางซื่อ-หัวลำโพง) สายสีแดงเข้ม (รังสิต-บางซื่อ-มหาชัย) สายสีเขียวอ่อน (พรานนก-สนามกีฬา-อ่อนนุช-สมุทรปราการ) สายสีเขียวเข้ม(บางหว้า-ตากสิน-สยาม-หมอชิต-สะพานใหม่) สายสีแดงอ่อน (ตลิ่งชัน-สุวรรณภูมิ) สายสีส้ม (บางกะปิ-บางบำหรุ) และ สายสีม่วง (บางใหญ่-บางซื่อ-ราษฎรบูรณะ)
  • ในขณะนี้ (7 ตค.2550) โครงการรถไฟฟ้าสายมีสีม่วง ได้ผ่านความเห็นชอบจากสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) หรือที่มักเรียกกันติดปากว่า สภาพัฒน์ และได้นำเรื่องเข้าสู่ ครม. อย่างรวดเร็วในวันอังคารที่ผ่านมา (2 ตค.2550) และ ครม.ได้มีมติอนุมัติ กรอบลงทุน 3 หมื่นล้านบาท
  • รายละเอียดของการอนุมัตินั้นบอกว่าให้แยกการดำเนินงานระหว่างการก่อสร้างงานโยธา และการวางระบบเดินรถและตัวรถ
  • ผู้ว่า รฟม. ได้ให้ข้อมูลว่าอาจจะมีการประกวดราคาได้ในต้นปีหน้า (ปี2551)

จากข้อมูลที่ได้กล่าวมาทั้งหมดนี้ ก็ดูเหมือนกับว่าทุกอย่างจะดำเนินไปตามขั้นตอน โครงการได้ครับความเห็นชอบจากทั้งแผนแม่บท สภาพัฒน์ คณะรัฐมนตรี คณะกรรมการสิ่งแวดล้อม ฯลฯ

ในฐานะผู้ที่ติดตามเรื่องราวต่างๆ ในฐานะสมาชิกคนกรุงเทพมหานคร ในฐานะผู้เสียภาษีให้กับรัฐ ขอตั้งประเด็นคำถามไว้ดังนี้

  1. รถไฟฟ้าสายสีม่วงมีลำดับความสำคัญอยู่ในอันดับที่เท่าใด เมื่อเปรียบเทียบกับรถไฟฟ้าสายอื่นๆอีก 6 สายในแผนแม่บทฯ
  2. ได้มีการนำเอาบทเรียนจากการพัฒนาระบบรถไฟฟ้า ทั้ง 2 สายที่มีอยู่แล้วมาใช้ในการพัฒนาหรือไม่ อาทิ การที่มีผู้โดยสารต่ำกว่าปริมาณที่พยากรณ์ไว้มาก เช่น สายสีน้ำเงิน ประมาณการไว้ ประมาณ 430,000 เที่ยวต่อวันในปีแรกที่เปิดให้บริการ ในขณะที่ปริมาณจริงอยู่ที่ไม่เกิน 2 แสนเที่ยวต่อวัน ในขณะที่ต้องการประมาณ 3 แสนเที่ยวต่อวันเพื่อให้เกิดความคุ้มค่าในการให้บริการ
  3. การที่เลือกที่จะเดินหน้าก่อสร้างงานโยธาไปก่อน โดยยังไม่มีความชัดเจนในเรื่องการเดินรถ ว่าจะให้เอกชนมาเดินรถ หรือรัฐจะทำเอง นั้นจะทำให้เกิดปัญหาในอนาคตหรือไม่
  4. หากในอนาคตเมื่อก่อสร้างจะแล้วเสร็จ แต่ไม่มีเอกชนที่สนใจจะให้บริการเดินรถ เนื่องจากทราบว่ารายได้จากค่าโดยสารไม่พอแม้แต่จะเป็นค่าน้ำค่าไฟ ค่าพนักงาน ค่าซ่อมบำรุง (นี่ยังไม่ต้องพูดถึงการจ่ายคืนเงินลงทุน) จะทำอย่างไร รัฐจะต้องเดินหน้าลงทุนเพื่อให้บริการ แล้วแบกรับภาระขาดทุนมหาศาลหรือไม่ และแหล่งเงินที่จะอุดหนุนภาระขาดทุนที่ว่านี้จะมาจากไหน (หวังว่าไม่ใช่จากภาษีที่พวกเราจ่ายๆกันอยู่ทุกปี)

ย้อนกลับมาที่ประเด็นสำคัญที่ได้เกริ่นไว้ข้างต้น "การจัดลำดับความสำคัญ"

  • ผมอยากเห็นการจัดลำดับความสำคัญของการพัฒนาระบบรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนของกรุงเทพมหานคร และให้รัฐบาลเดินตามลำดับ เพื่อให้เกิดการใช้งบประมาณอย่างคุ้มค่าสูงสุด
  • การจัดลำดับความสำคัญ จะช่วยไม่ให้เกิดภาวะขาดทุนให้กับรถไฟฟ้าสายสีม่วง โดยเมื่อพัฒนารถไฟฟ้าสายอื่นๆจนระบบมีความครบถ้วน ครอบคลุมพื้นที่ของกรุงเทพมหานครอย่างดีแล้ว ปริมาณผู้โดยสารรถไฟฟ้าสายที่ขนคนจากชานเมือง (รวมทั้งสีม่วง) ก็จะมากขึ้นจนไม่ประสบกับภาวะขาดทุน จนต้องเองเงินภาษีมาอุดหนุน
  • การจัดลำดับความสำคัญจะทำให้เกิดความเป็นธรรมในการพัฒนาระบบ มิใช่อ้างเรื่องความพร้อมของการเริ่มงาน แต่ต้องอ้างเรื่องความคุ้มค่า ทั้งด้านเศรษฐกิจ ด้านสังคม และด้านการเงิน มิฉะนั้นหากผมเป็นผู้ว่า รฟม. แล้วอยากจะให้สร้างสายไหนก่อน ก็รีบๆจัดแจงให้มีการตระเตรียมความพร้อมทั้งออกแบบ ทั้งเวนคืน สารพัด ก็เริ่มโครงการได้ อย่างนั้นหรือ

ท้ายที่สุด ก่อนที่จะเลิกบ่น ขอเรียกร้องสิ่งต่อไปนี้ (ทั้งๆที่ก็คิดว่าไม่น่าจะเกิดขึ้นได้)

  1. ขอให้มีการเปิดเผยรายงานการศึกษาต่างๆที่เกี่ยวข้องกับระบบรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนทั้งหมด ทั้งรายงานการศึกษาแผนแม่บท รายงานการศึกษาเฉพาะสาย รายงานการศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อม และรายงานการศึกษาอื่นๆที่เกี่ยวข้อง รายงานเหล่านี้ใช้เงินภาษีของประชาชนไปจ้างบริษัทที่ปรึกษาทำการศึกษา ผลการศึกษาจึงควรเป็นเอกสารสาธารณะ ให้ประชาชนสามารถศึกษา รวมทั้งตาวจสอบได้
  2. ขอให้มีการเปิดเผยรายละเอียดการพิจารณาในขั้นตอนต่างๆ ได้แก่ รายละเอียดผลการพิจารณาจากสภาพัฒน์ และการพิจารณาในขั้นตอนอื่นๆที่เกี่ยวข้อง
  3. ขอให้พวกเราเฝ้าดูการลงทุนในระบบโครงสร้างพื้นฐานต่างๆในอนาคต โดยมิใช่คิดว่าการลงทุนนั้นเป็นเสมือนของที่เราได้มาเปล่าๆลงทุนอย่างไรก็ได้ ลงทุนอะไรก็ได้ แต่ควรคิดว่าการลงทุนนั้นมาจากเงินของเราเองจะต้องลงทุนให้เกิดความคุ้มค่าที่สุด

และสุดท้ายนี้ ขอให้มีการตรวจสอบรายชื่อเจ้าของที่ดินผืนใหญ่ ย่านบางใหญ่ ว่ามีใครเป็นเจ้าของ มีการเปลี่ยนมือเมื่อไร และมีการโยงใยไปหาผู้มีส่วนเกี่ยวข้องกับโครงการนี้บ้างหรือไม่ !



No comments: