30 September 2007

เวียดนาม โฮจิมินห์ หวุ๋งเต่า



เมื่อสัปดาห์ที่แล้วได้มีโอกาสไปเวียดนามเพื่อสอนหนังสือให้กับนักศึกษาคนเวียดนาม ณ นครโฮจิมินห์ และเมืองหวุ๋งเต่า โดยเป็นครั้งแรกที่ได้เดินทางไปประเทศเวียดนาม


ก่อนหน้านี้ได้เคยได้ยินเรื่องต่างๆเกี่ยวกับประเทศเวียดนามเยอะมาก ไล่ตั้งแต่อาหารเวียดนาม คนเวียดนาม ประวัติศาสตร์ การเมือง การศึกษา เศรษฐกิจ ฯลฯ

หลังจากกลับมาจากเวียดนามพอเจอใคร เกือบทุกคนจะถามคำถามเดียวกันว่า เป็นยังไงบ้าง ที่เค้าว่าเวียดนามจะเป็นคู่แข่ง จะแซงประเทศไทย ในอีกไม่ช้านี่ จริงรึเปล่า

คำตอบจากปากของผมทุกครั้งคือ "จริง" (แต่คิดในใจ จะจริงหรือไม่ไม่ได้อยู่กับประเทศเวียดนาม แต่อยู่กับพวกเราเอง)

สิ่งที่ได้อย่างมากจากการไปเวียดนามครั้งนี้คือการได้ไปรู้จักนิสัยใจคอ รู้จักวัฒนธรรมการทำงาน วัฒนธรรมการเรียนรู้ และวัฒนธรรมการทำงานร่วมกัน ของคนเวียดนาม ซึ่งล้วนแล้วแต่เป็นสิ่งบ่งบอกศักยภาพของคน และศักยภาพของประเทศ
คนเวียดนามมีประวัติศาสตร์การต่อสู้ที่ยาวนาน ถูกรุกรานต้องตกเป็นเมืองขึ้นของประเทศต่างๆทั้ง จีน มองโกล ฝรั่งเศส และเกิดสงครามหนักๆหลายรอบ กับประเทศมหาอำนาจหลายประเทศ ดังนั้นคนเวียดนามจึงมีสายเลือกนักสู้อย่างไม่ต้องสงสัย

ในขณะที่สอนนั้น ผมได้ให้โจทย์เพื่อให้นักเรียนในห้อง (ซึ่งเป็นคนทำงาน อายุเฉลี่ยประมาณ 35 ปี) ได้คุยกันเองในกลุ่ม มีการถกเถียงกันเพื่อให้ได้ข้อสรุป แล้วออกมานำเสนอผลต่อเพื่อนๆหน้าห้อง

ปรากฎว่าผมเห็นนักเรียนเวียดนามนั่งคุยกัน ถกเถียงกันอย่างเอาเป็นเอาตาย หน้าดำหน้าแดง จนเวลาผ่านไปเริ่มได้ข้อสรุป แล้วออกมาอภิปรายหน้าชั้น

มีกลุ่มหนึ่งที่รู้สึกประทับใจ ในกลุ่มนี้หัวหน้ากลุ่มได้กำหนดให้มีการแบ่งกลุ่มย่อยเป็น 2 กลุ่ม แต่ละกลุ่มก็ไปหาข้อสรุปจากโจทย์เดียวกัน เมื่อแต่ละกลุ่มย่อยหาข้อสรุปแล้วก็จะนำข้อสรุปสองกลุ่มนี้มาเปรียบเทียบและถกเถียงกัน และของใครดีกว่าก็จะได้เป็นตัวแทนไปนำเสนอ
เมื่อมีการอภิปรายหน้าห้องก็มีการนำเสนอและมีการถกเถียงกันอีกระหว่างกลุ่ม ในประเด็นที่มีความเห็นขัดแย้งกัน จนกระทั่งได้ข้อสรุปที่ทุกฝ่ายเห็นด้วย และยอมรับเหตุผลซึ่งกันและกัน
ผมเคยทดลองวิธีการอย่างนี้กับห้องเรียนที่ผมสอน ในประเทศไทย ปรากฎว่าบรรยากาศของการถกเถียง การเรียนรู้อย่างจริงๆ มีโอกาสเกิดได้น้อยมากถึงมากที่สุด
ผมเชื่อว่าวัฒนธรรมการเรียนรู้ วัฒนธรรมการทำงานร่วมกัน วัฒนธรรมการถกเถียง (ในเรื่องงาน) เป็นสิ่งที่ดี และต้องสร้างให้เกิดขึ้นให้ได้ในประเทศไทย ซึ่งจะทำให้ทรัพยากรมนุษย์ของเราสามารถสร้างสรรค์สิ่งต่างๆได้มากขึ้นอีก
และเราก็จะไม่ต้องกลัว ไม่ต้องถามอีกว่า เวียดนามเป็นคู่แข่งที่น่ากลัวจริงหรือ จะแซวประเทศไทยแล้วจริงหรือ
หวังว่าคราวหน้าผมไปเวียดนาม กลับมา คงจะไม่ได้ยินคำถามในลักษณะนี้อีก !!



3 comments:

Anonymous said...

ตอนชั่วโมงเรียน อาจารย์มักบ่นให้ฟังเรื่อง รถไฟฟ้าสายสีม่วงว่าไม่ควรสร้าง ผมคนหนึ่งละที่เห็นด้วยกับอาจารย์ และอาจารย์บอกว่าเส้นทางสายที่ควรก่อสร้างมากที่สุดคือสายสีแดง ณ.เวลานั้น ผมก็เห็นด้วย แต่เผอิญได้มีโอกาสเข้าร้านหนังสือ “เปิดปมรถไฟฟ้าที่คนกรุงเทพต้องรู้”
ของ ดร. สามารถ โดยส่วนตัวผมไม่ทราบว่าผู้แต่งอยู่ข้างไหน แต่เหตุผลที่เขายกไว้ว่าทำไมสายสีแดงถึงยังสร้างไม่ได้ น่าสนใจสำหรับผมเพราะผมไม่รู้มาก่อน และเมื่ออ่านประวัติคนแต่งพบว่า ศึกษามาทางด้านนี้โดยตรง ต้องขออภัยถ้าอาจารย์ทราบข้อมูลมาก่อนแล้ว แต่ผมคนหนึ่งก็สนใจเรื่องการพัฒนาระบบโครงสร้างพื้นฐานเหมือนกัน และในฐานะวิศวกรออกแบบ คิดว่าเหตุผลที่ยกมานี้ถ้าเป็นจริงก็น่าฟังมากทีเดียว
“รถไฟฟ้าสายสีแดง ช่วงบางซื่อ-รังสิต ระยะทาง 26 กม. เป็นเส้นทางที่คาดว่าจะมีผู้โดยสารเป็นส่วนมาก เพราะเป็นแหล่งที่อยู่อาศัย และแหล่งงานหลายแหล่ง อีกทั้งสถานีปลายทาง คือ สถานีรังสิต เป็นศูนย์รวมของการขนส่งจากภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือ พูดได้ว่าสถานีรังสิตจะเป็นศูนย์รวมของการเดินทางจากชานเมืองตอนเหนือของกรุงเทพ เพื่อขนคนเข้าสู่ตัวเมือง เส้นทางสายนี้มีการออกแบบไว้แล้ว แต่เวลานี้กำลังมีการทบทวนปรับปรุงแบบ โดยจะมีการเพิ่มสถานีอีก 4-5 สถานี พร้อมทั้งจะปรับแก้แบบก่อสร้างสถานีบางซื่อ ซึ่งเป็นสถานีสำคัญ ถือได้ว่าเป็นหัวใจของรถไฟฟ้าสายสีแดง ที่สถานีนี้มีชานชาลาและรางจำนวนมาก เพื่อรองรับรถไฟฟ้าชุมชน (รถไฟชานเมือง) รถไฟทางไกล รถไฟฟ้าขนส่งมวลชน(เช่นเดียวกับรถไฟฟ้าบีทีเอส) และแอร์พอร์ตลิงก์ ที่จะเชื่อมโยงสนามบินสุวรรณภูมิกับสถานีมักกะสัน
ในส่วนของชานชาลาและรางที่จะรองรับแอร์พอร์ตลิงก์นั้น ยังไม่มีความแน่นอนว่าจะมีการขยายเส้นทางแอร์พอร์ตลิงก์จากสถานีมักกะสัน ไปยังไปยังสถานีบางซื่อหรือไม่ ทำให้ขาดความชัดเจนในการออกแบบเพื่อก่อสร้างในส่วนนี้ของสถานีบางซื่อ การตัดสินใจที่เหมาะสมจึงมีความจำเป็น หากไม่ออกแบบก่อสร้างชานชาลาเสียแต่วันนี้ การก่อสร้างในวันข้างหน้าก็ทำได้ยาก
นอกจากตัวอย่างดังกล่าวแล้ว ยังมีเรื่องความกว้างของรางรถ ที่ผู้มีอำนาจหน้าที่บางคนต้องการเปลี่ยนขนาดของรางในพื้นที่ กทม.และปริมณฑล จากความกว้าง 1.067 เป็น 1.435”

Santi Ch. said...

ขอบคุณครับสำหรับความเห็น

สายที่ผมเห็นว่าควรจะสร้างคือ สีแดง และสีน้ำเงิน

อย่างที่เคยพูดให้ฟังว่า การจะบอกว่าสายไหนควรสร้างก่อนสร้างหลัง ประเด็นสำคัญคือความคุ้มค่า หรือความจริงก็คือว่า demand ของผู้โดยสารนั่นเอง หากสายไหนมี demand สูงก็แสดงว่ามีความคุ้มค่ามากกว่า และควรจะสร้างก่อน

ส่วนในเรื่องของความพร้อมในการเริ่มลงมือก่อสร้างก็เป็นอีกมิติหนึ่งที่ต้องดู แต่ผมมองว่าในด้านความพร้อม หรือหากจะมองว่าเป็นด้าน supply นั้นสามารถเร่งได้ ไม่ว่าจะแบบไม่เสร็จ ก็สามารถเร่งแบบให้เสร็๗ได้ หรือจะใช้วิธี turnkey ก็ได้ หรือหากแบบยังไม่นิ่ง ก็เป็นปัญหาของความรับผิดชอบระหว่างหน่วยงาน

แต่ประเด็นใหญ่คือ ความต้องการ หรือ demand เป็นหลัก ส่วนด้าน supply นั้นอย่างที่ได้บอกไปคือ เร่งได้ หรือมีวิธีการที่แก้ปัญหาไปได้

ในขณะที่สายสีม่วงนั้น demand ต่ำ แต่ผู้รับผิดชอบไปเร่งด้าน supply ให้พร้อมก่อน(แบบเสร็จ ผ่าน EIA เวนคืนได้) แล้วนำมาเป็นข้ออ้างในการเริ่มโครงการ

Anonymous said...

Your style is really unique in comparison to other folks
I have read stuff from. Thanks for posting when you've got the opportunity, Guess I will just bookmark this page.

Feel free to visit my blog post: meladerm review