01 October 2007

รถไฟฟ้าสายสีม่วง

เมื่อวานนี้ได้อ่านข่าวว่าสภาพัฒน์ (สศช.) ได้พิจารณาเห็นชอบให้สร้างรถไฟฟ้าสายสีม่วง (บางใหญ่-บางซื่อ) และจะได้นำเรื่องเข้าคณะรัฐมนตรีเพื่ออนุมัติให้เริ่มก่อสร้างได้

ได้ยินข่าวนี้แล้วรู้สึกอึ้ง ผสมกับผิดหวังมากๆ

คนที่ติดตามเรื่องการพัฒนาระบบรถไฟฟ้าขนส่งมวลชน (ระบบราง) ในกรุงเทพฯ จะรู้ว่ารถไฟฟ้าตามที่มีการศึกษาและวางแผนไว้นั้นมีทั้งสิ้น 7 สาย (ในระยะแรก) ตั้งแต่สายสีน้ำเงิน (สายวงกลม ต่อจากหัวลำโพง ข้ามมาฝั่งธนฯ และวิ่งตาม ถ.จรัญฯไปบรรจบกับสายเดิมที่บางซื่อ) สายสีแดง (รังสิต-มหาชัย) สายสีเขียวอ่อน และเขียวแก่ (ส่วนต่อขยายจากบีทีเอสเดิม) สายสีม่วง (บางใหญ่-บางซื่อ-ราษฎร์บูรณะ) สายสีส้ม และ สายสี... (จำไม่ได้)


ในบรรดาทุกสายที่กล่าวมานั้น หากเรียงลำดับตามปริมาณความต้องการแล้ว สายสีน้ำเงิน สายสีแดง และสายสีเขียว ซึ่งควรจะเป็นสายแรกๆที่สร้างก่อน โดยเฉพาะอย่างยิ่งสายสีน้ำเงินที่เป็นสายวงกลมภายในเมือง ที่จะทำให้เกิดการไหลของมวลชนไปในทิศทางต่างๆได้อย่างมีประสิทธิภาพ คล้ายกับสายวงกลมในเมืองใหญต่างๆ อาทิ Circle Line ในมหานครลอนดอน สายยามาโนเตะ ในกรุงโตเกียว เป็นต้น

แต่สายที่จะเริ่มก่อสร้างต่อไปเป็นอันดับแรกกลับเป็นสายสีม่วง ซึ่งเป็นสายวิ่งจากนอกเมือง (บางใหญ่ จ.นนทบุรี) เข้ามาในเมือง ซึ่งไม่ได้บรรจบกับสถานีบางซื่อของสายสีน้ำเงินในปัจจุบันด้วยซ้ำไป

ในปัจจุบันสายสีน้ำเงินที่เป็นรถไฟใต้ดินนั้นมีผู้โดยสารวันละ 2 แสนกว่าคน ซึ่งก็ยังต่ำกว่าจุดคุ้มทุน ทั้งๆที่เป็นรถไฟในเมือง มีผู้คนขึ้นใช้บริการตลอดวัน รวมถึงวันเสาร์อาทิตย์ และวันหยุดราชการ

ในขณะที่สายสีม่วงเป็นรถไฟที่วิ่งจากนอกเมือง จะมีคนขึ้นมากก็เฉพาะในตอนชั่วโมงเร่งด่วนตอนเช้า และเย็น เท่านั้น แถมวันเสาร์อาทิตย์ และวันหยุดราชการก็จะมีคนใช้บริการน้อย มีโอกาสที่จะขาดทุนสูง

ยิ่งในครั้งนี้ผู้รับผิดชอบบอกว่า รัฐจะเป็นผู้ลงทุนเอง (อาจจะกู้เงินมาจากแหล่งใดแหล่งหนึ่ง เช่น เจบิก หรือแหล่งเงินทุนอื่นๆ) แทนที่จะใช้ระบบสัมปทานเหมือนอย่างโครงการอื่นๆ ซึ่งหากใช้ระบบสัมปทานรัฐก็จะได้ไม่ต้องแบกรับภาระขาดทุน (ซึ่งมีโอกาสเกิดขึ้นสูง) อีกด้วย

คำถามในขณะนี้คือ ทำไมต้องสร้างสายสีม่วงก่อน ในขณะที่ยังมีสายอื่นๆที่มีความต้องการ มีความจำเป็นเร่งด่วนใด คำตอบที่มักจะตอบเป็นแผ่นเสียงตกร่องคือ เพราะว่าเป็นสายที่พร้อมที่สุด มีแบบก่อสร้างแล้ว เวนคืนก็ไม่มีปัญหา ซึ่งไม่ใช่เหตุผลที่ดีเลย

ผู้ที่อาศัยอยู่ตามแนวรถไฟฟ้าสายสีม่วง อาจจะนึกโกรธหรือไม่ชอบสิ่งที่ผมเขียนในลักษณะนี้ แต่ผมขออนุญาตเขียนในฐานะผู้เสียภาษีคนหนึ่ง ซึ่งหากเกิดภาวะขาดทุน รัฐก็จะต้องใส่เงินลงไปกับโครงการนี้อีกมาก เหมือนกับกรณี ขสมก. ซึ่งก็จะกระทบกับภาษีที่ผมเสียให้รัฐทุกปี

ผมนึงขอบ่น ด้วยประการฉะนี้

8 comments:

Anonymous said...

ใช้สมองหรืออะไร คิด คับ
รู้หรือเปล่า ว่า หมู่บ้าน แถบบางบัวทองบางใหญ่
มีปริมาณเท่าไหร่
ไม่น้อยไปกว่า รังสิตเลยนะคับ (เค้าถึงเร่งสายสีแดง)
แล้ว รู้หรือเปล่า ว่า
แต่ละหลัง ขับรถเข้าเมืองไปทำงาน คนละ 80-120 กิโล ฯ
(ผมคนหนึ่งที่ขับ 80 กม.เฉพาะขาไป)
เสีย ค่าน้ำมัน ไปเท่าไหร่

เวร

Santi Ch. said...

ขอบคุณครับสำหรับความคิดเห็นที่ตรงไปตรงมา ขอตอบอย่างนี้ครับ

ผมก็พยายามจะใช้สมองคิดอย่างที่คุณว่า ผมคิดเรื่องนี้มาสองสามปีทีเดียวครับ โดยการใช้สมองนั้นผมคิดว่าจะให้ดีต้องมีสิ่งสำคัญ 2 อย่างคือ

1. ข้อมูลที่ถูกต้อง ในเรื่องนี้หากคุณเห็นข้อมูลก็จะรู้ว่าปริมาณการจราจร และปริมาณผู้โดยสารที่คาดว่าจะใช้บริการในเส้นทางบางใหญ่บางซื้อ นั้นมี แต่มีน้อยกว่าปริมาณในเส้นทางอื่น เรียกได้ว่าน้อยที่สุดในบรรดา 7 สาย หรือ 10 สาย ที่อยู่ในแผนแม่บท ฉะนั้นความคุ้มค่าทั้งเชิงเศรษฐกิจ เชิงสังคม เชิงการเงิน จึงมีน้อยที่สุด

ในจุดนี้ผมต้องบอกว่า ผมไม่ได้ว่าไม่คุ้มค่านะครับ มันก็คงคุ้มค่า แต่ว่าเมื่อเทียบกับเส้นทางอื่นๆแล้ว ความคุ้มค่าด้านต่างๆที่บอกมาแล้ว รวมๆกัน มันน้อยกว่าความคุ้มค่าในเส้นทางอื่นๆครับ

ประเทศเรามีเงินจำกัด มีโครงการที่อยากทำเป็นร้อยเป็นพัน ต้องการเงินแสนล้าน ล้านล้าน แต่มีเงินจำกัด ต้องทำอย่างไรล่ะครับ ก็คงต้องเลือกโครงการที่มีความสำคัญ ซึ่งก็หมายถึงโครงการที่มีความคุ้มค่า (ทางเศรษฐกิจ สังคม และการเงิน) มากที่สุดก่อน เหมือนคุณมีเงินจำกัด แต่อยากจะซื้อรถทุกยี่ห้อเลย แต่ก็คงต้องเลือกซื้อรถเฉพาะคันที่คิดว่าคุ้มค่าจริงๆ ก่อน

2. จะคิดให้เที่ยง คิดให้ตรง ต้องสวมวิญญาณคนจ่ายภาษีครับ หากผมเป็นคุณ พักอาศัยอยู่ย่านบางใหญ่ บางบัวทอง ผมก็คงจะอยากได้รถไฟฟ้าเช่นกัน ผมก็คงจะออกมาต่อว่าต่อขานคนที่จะมาเป็นอุปสรรคในการสร้างเช่นกัน

แต่ผมเขียน ผมคิด และผมพูดในฐานะคนที่จ่ายภาษีครับ คนที่เป็นเจ้าของเงิน และมีสิทธิที่จะได้รับการให้บริการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนเช่นกัน ฉะนั้นผมมีสิทธิที่จะไม่เห็นด้วยที่จะเอาเงินของประเทศ หรือเอาประเทศไปกู้เงินมาสร้างรถไฟฟ้าสายสีม่วง ทั้งๆที่เงินน่าจะนำไปสร้ารถไฟฟ้าสายสีอื่นๆที่เร่งด่วน สำคัญกว่า เช่น สีแดง สีน้ำเงิน หรือแม้แต่อาจจะควรนำไปใช้ในเรื่องการศึกษา การพัฒนาสังคม ก็อาจจะยังดีกว่านำมาใช้ในโครงการที่ไม่คุ้มค่า หรือคุ้มค่าต่ำ

ผมจะเห็นด้วยกับการสร้างรถไฟฟ้าสายสีม่วงเป็นลำดับแรก ก็ต่อเมื่อ โครงการนี้มิได้ใช้เงินภาษี หรือไม่ได้ใช้เงินกู้ที่รัฐบาลในอนาคตจะต้องหาเงินมาใช้คืน

ฉะนั้นผมยังยืนยันในความคิดของผมว่า ไม่เห็นด้วยกับการเริ่มโครงการรถไฟฟ้าสายสีม่วง "เป็นลำดับแรก" แต่ควรไปเริ่มสายสีอื่นๆตามลำดับให้ดีก่อน แล้วทุกๆฝ่ายก็จะได้ประโยชน์ร่วมกัน และบนบรรทัดฐานเดียวกัน

Anonymous said...

ที่เขาสร้างสายสีม่วงก่อนเป็นเพราะเขาสำรวจจาก ขสมก. และรถร่วมบริการในย่านนั้นถึงปริมาณผู้โดยสารในแต่ละวัน จำนวนบ้านและจำนวนรถยนต์

Anonymous said...

ที่มีการกำหนดให้สร้างรถไฟฟ้าสายสีม่วงนั้น ผมว่ามีอีกหลายๆ เหตุผลที่สำคัญที่คุณยังไม่ทันได้คิดก็คือ มีหลายประเด็นดังนี้

1. การเดินทางจากบริเวณนั้นด้วยวิธีการขนส่งแบบอื่นๆที่เข้ามาสู่ใจกลางเมืองหรือแหล่งธุรกิจนั้นยังไม่มี ส่วนมากจะเป็นรถตู้ที่จะต้องเข้ามาต่อตามจุดต่างๆ อีกครั้งหนึ่ง ซึ่งไม่มีความสะดวก เส้นทางยังไม่ครอบคลุมถึงแหล่งธุรกิจ บางครั้งการเดินทางไปสถานที่หนึ่งจะต้องต่อรถตู้ 2 - 3 ต่อ และที่สำคัญคือมีเวลาให้บริการที่จำกัดครับ (ส่วนมากรถตู้จะเลิกวิ่งตอน 3 ทุ่มครับ) รวมทั้งมีความเสี่ยงในเรื่องต่างๆ เช่น มิจฉาชีพ ด้วย

2. คุณมองแต่ว่าจำนวนผู้ใช้บริการบริเวณบางใหญ่หรือตลอดเส้นทางนั้นมีน้อย แต่ในความเป็นจริงแล้วบริเวณนั้นในทุกวันนี้เต็มไปด้วยหมู่บ้านจัดสรรหรือแหล่งที่พักอาศัยจำนวนมากจนคุณอาจคิดไม่ถึง

3. ประเด็นที่สำคัญที่ไม่อยากให้คุณมองข้ามไปก็คือจำนวนผู้คนที่อยู่ในบริเวณพื้นที่ใกล้เคียง เช่นจังหวัดปทุมธานี หรืออยุธยา ที่สามารถนำรถมาจอดที่สถานีบางใหญ่เพื่อใช้บริการรถไฟฟ้า ซึ่งข้อมูลตรงนี้เป็นข้อมูลที่ไม่มีอยู่ในแบบสำรวจที่คุณนำมาใช้อ้างอิงอย่างแน่นอน เพราะในกรณีที่ไม่มีรถไฟฟ้า ผู้คนอาจเลี่ยงไปใช้เส้นทางอื่น เช่น ทางด่วน ทำให้ข้อมูลที่คุณเอามาอ้างอิงตกหล่นไปครับ อย่าบอกนะครับว่าคุณจะบอกว่ารถต้องวิ่งผ่านเส้นทางนั้นทั้งหมด เพราะในบางครั้งที่คุณต้องการไปทางสุขุมวิท คุณยังสามารถหลีกเลี่ยงไปวิ่งทางเพชรบุรีหรือขึ้นทางด่วนได้เลย

4. ประเด็นที่คุณพูดมาผมก็เข้าใจ แต่ต้องลองคิดดูว่าการสร้างสิ่งที่ไม่เคยมีอยู่เลย กับการสร้างสิ่งที่บรรเทาปัญหาที่มีอยู่สิ่งไหนน่าจะสำคัญกว่ากัน สิ่งไหนที่จะมีและก่อให้เกิดประโยชน์มากกว่ากัน เหมือนกับคุณมีทีวีขาวดำแล้วมีเงินจำกัด ถ้าให้เลือกซื้อทีวีสีกับเครื่องซักผ้าที่คุณยังไม่มี คุณจะเลือกซื้ออะไรล่ะครับ

5. แล้วเรื่องจุดคุ้มทุนที่คุณกล่าวมานั้น ผมขอบอกเลยว่าในการดำเนินโครงการที่เป็นการบริการของรัฐนั้น ไม่สามารถพิจารณาถึงจุดคุ้มทุนได้เหมือนกับโครงการของภาคเอกชน เนื่องมาจาก รัฐมีหน้าที่ให้บริการแก่ประชาชนเป็นหลัก สมมุติว่าถ้าขสมก.มีการประเมินโครงการการลงทุนออกมาแล้วปรากฎว่าโครงการนั้นไม่คุ้มทุน หรือขาดทุน แล้วทางขสมก.ไม่ดำเนินโครงการนั้นๆ แล้วประชาชนจะทำอย่างไรล่ะครับ ต้องมีรถกันทุกคนหรืออย่างไร

ปล.ฝากเอาไว้แล้วกันครับ กระทู้นี้ก็เก่ามากแล้ว ขอบคุณครับ

กาลิกี said...

สร้างไปแล้วเดี๋ยวก็เกิดเมืองขึ้นเอง เพราะเส้นทางที่ผ่าน มี

พื้นที่โล่งเยอะ ยังพัฒนาได้อีกเยอะ

Santi Ch. said...

เห็นด้วยกับคุณกาลิกีนะครับ ว่าอีกหน่อยก็คงมีการพัฒนาตามเส้นทางมากขึ้น

แต่ประเด็นที่ผมต้องการชี้ให้เห็นคือ มีสายอื่นที่มีความพร้อม และมีความคุ้มค่าสูงมากกว่ามากอีกหลายเส้นทาง แต่ทำไมถึงไม่รีบดำเนินการ เช่น สายสีน้ำเงิน (ขอย้ำอีกคร้งนะครับว่า "ความคุ้มค่า" ที่ผมว่านี้หมายถึงความคุ้่มค่าทางเศรษฐกิจและสังคม เช่น การประหยัดเวลาเดินทาง การประหยัดพลังงาน การลดมลพิษ ฯลฯ ไม่ใช่ความคุ้มค่าทางการเงินแต่เพียงอย่างเดียว)

การเริ่มดำเนินงานตามลำดับความคุ้มค่านั้นมีประโยชน์ครับ เช่น
- โครงการจะได้รับผลตอบแทนทางเศรษฐกิจสังคมและการเงินสูง ทำให้เกิด impact ในการพัฒนาโครงการ ซึ่งจะทำให้เส้นทางอื่นๆมีความคุ้มค่าสูงขึ้น เช่น เมื่อสร้างรถไฟฟ้าสายสีเขียว (บีทีเอส ปัจจุบัน) ก็เป็นการนำคนเข้าสู่ระบบการขนส่งสาธารณะ ทำให้มีความต้องการเดินทางในลักษณะนี้มากขึ้น ทำให้เกิดการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง
- หากพัฒนาโครงการแล้วประสบความสำเร็จ ก็จะทำให้มีนักลงทุน หรือรัฐบาลเองก็อาจจะอยากลงทุนต่ออย่างรวดเร็ว ทำให้เกิดการพัฒนาเป็นลูกโซ่

ทำตามหลักการ ตามตรรก นั้นดีที่สุดครับ

แต่ตอนนีนะครับ ผมบอกตรงๆว่า ผมเลิกสนใจแล้วเรื่องนี้ เพราะว่าผมคิดกลับกัน สร้างอะไรก็ได้สร้างไปเถอะ เพราะยังไงก็ดีกว่าไม่สร้าง นักการเมืองเรา คุณภาพอยู่แล้ว

Santi Ch. said...

จากความเห็นของคุณ ไม่ระบุชื่อ เมื่อเดือนมิุถุนายน

ขออภัยครับ ผมไม่ได้มีโอกาสมาตอบในตอนนั้น ตอนนี้ขอตอบอย่านี้ครับ

----
5. แล้วเรื่องจุดคุ้มทุนที่คุณกล่าวมานั้น ผมขอบอกเลยว่าในการดำเนินโครงการที่เป็นการบริการของรัฐนั้น ไม่สามารถพิจารณาถึงจุดคุ้มทุนได้เหมือนกับโครงการของภาคเอกชน เนื่องมาจาก รัฐมีหน้าที่ให้บริการแก่ประชาชนเป็นหลัก สมมุติว่าถ้าขสมก.มีการประเมินโครงการการลงทุนออกมาแล้วปรากฎว่าโครงการนั้นไม่คุ้มทุน หรือขาดทุน แล้วทางขสมก.ไม่ดำเนินโครงการนั้นๆ แล้วประชาชนจะทำอย่างไรล่ะครับ ต้องมีรถกันทุกคนหรืออย่างไร
-----

ผมก็อยากจะพูดให้ชัดอีกครั้งครับว่า คำว่า "คุ้มค่า" หรือ "คุ้มทุน" ที่เรากำลังพูดถึงกันนี้ ไม่ได้หมายถึง คุ้มค่าทางการเงิน หรือเก็บเงินได้มากกว่าเงินลงทุนนะครับ

แต่ผมหมายถึง การที่เกิดประโยชน์ให้กับระบบเศรษฐกิจและสังคม รวมทั้งเงินด้วย รวมๆกันแล้ว สูงกว่าเงินลงทุน เช่น

-มุลค่าของเวลาที่ผู้โดยสารประหยัดได้ (ตีเป็นตัวเลขได้)
-มูลค่าพลังงานที่ประหยัดได้ (ตีเป็นตัวเลขได้)
-ความปลอดภัยที่เกิดขึ้น (ตีเป็นตัวเลขได้)
-ปริมาณมลพิษที่ลดลง (ตีเป็นตัวเลขได้)
- สุขภาพจิตของประชาชนดีขึ้น (ตีเป็นตัวเลขยาก หรือไม่ได้)
- การพัฒนาเชิงพาณิชย์รอบๆสถานี (ตีเป็นตัวเลขได้)
- มูลค่าที่ดินที่สูงขึ้น (ตีเป็นตัวเลขได้ และนักการเมือชอบ)
- อื่นๆ
- และค่าโดยสารที่เก็บได้ (เป็นตัวเงินอยู่แล้ว)

ในการคำนวณความคุ้มค่านั้น นักเศรษฐศาสตร์จะนำเอาตัวเลขทั้งหมดเท่าที่จะวิเคราะห์ได้มาตีเป็นมูลค่าแล้วก็เปรียบเทียบกับเงินลงทุน

หากประโยชน์ทั้งหมดดังกล่าวมีมูลค่าสูงว่ามูลค่าเงินลงทุน ก็แสดงว่าคุ้มค่า ควรลงทุนครับ

ก็เหมือนกับเวลาคุณจะซื้อบ้าน ซื้อรถ คุณก็คำนวณในใจแล้วว่าคุ้มค่า เหมาะสม แม้จะไม่ได้เงินแต่ก็ได้ประโยชน์อื่นๆ

แต่ประเด็นที่มากไปกว่านั้นคือ "ลำดับของความคุ้มค่า"

เพราะว่าบอกได้เลยครับว่า ทุกโครงการคุ้มค่าหมด หากคิดประโยชน์ที่กล่าวมาข้างต้น แต่โครงการที่ควรได้รับเงินก่อนคือโครงการที่มีความคุ้มค่ามากที่สุด จริงไหมครับ เหมือนคุณก็คงต้องเลือกว่าจะซื้ออะไรก่อนอะไร คงไม่ซื้อเครื่องบินส่วนตัว ก่อนซื้อรถยนต์ หรอก จริงไหมครับ

ในประเด็นเรื่องการที่หากรัฐไม่สร้าง แล้วจะให้ทำอย่างไร ประชาชนจะไม่ต้องรอ หรือต้องซื้อรถกันทุกคนหรือ

ผมขอตอบอย่างนี้ครับ

รถไฟฟ้าไม่ได้จำเป็นสำหรับทุกที่ครับ ในแต่ละพื้นที่จะมีปริมาณความต้องการรถโดยสารสาธารณะไม่เหมือนกัน หากพื้นที่ที่มีความต้องการมาก ก็ต้องใช้ระบบใหญ่ พื้นที่ที่มีความต้องการน้อย ก็ใ้ช้ระบบเล็กหน่อย ไล่ตั้งแต่รถเมล์ ไปจนถึงรถไฟฟ้าแบบเบา ไปจนถึงรถไฟฟ้าขนาดใหญ่

ฉะนั้นคงไม่ใช่ว่าไม่มีการลงทุน หรือรัฐไม่ให้บริการ แต่ต้องเลือกประเภทของการบริการให้เหมาะกับความต้องการครับ

แต่ทุดท้ายนะครับ ตอนนี้ผมคิดว่า สร้างอะไรก็สร้างไปเถิดครับ เรื่องรถไฟฟ้าสายสีม่วงกลายเป็นเรื่องเล็กทัีนที เมื่อมีโครงการรถเมล์ ngv สี่พันคัน

สินเชื่อ said...

จะทำให้รถติดน้อยลงใช่มั้ยครับ