07 November 2007

มืออาชีพ มือสมัครเล่น

ช่วงสองสามสัปดาห์นี้ได้เริ่มๆเรียนกอล์ฟจาก "โปร" ที่ได้รับการแนะนำมา ความจริงเคยฝึกกอล์ฟอยู่พักหนึ่ง ประมาณครึ่งปี เมื่อประมาณ 2 ปีที่แล้ว แต่เป็นการหัดเอง อ่านจากหนังสือ แล้วหัดตาม ดูวีดีโอ แล้วฝึกตาม ปรากฎว่าได้ผลดีมาก ตีได้มาตรฐาน ไม่ว่าใช้เหล็กเบอร์อะไร ก็ตีได้ระยะเท่ากันหมด เลยคิดว่าไม่ไหวละ คงจะไม่รุ่ง ได้เรียนรู้ว่าในบางเรื่องการอ่านหนังสือ หรือการเรียนรู้ด้วยตัวเอง ก็ไม่ได้ผล จำเป็นต้องให้
"ครูฝึกมืออาชีพ" หรือที่เรียกว่า "โปร" มาสอน

พอนึกๆถึงเรื่องนี้เลยนึกขึ้นได้ถึงเรื่องความแตกต่างระหว่างมือโปรหรือ "มืออาชีพ" กับ "มือสมัครเล่น" ซึ่งเคยได้รับการสอนมาจากอาจารย์ท่านหนึ่ง ในขณะเรียนอยู่ ซึ่งตอนนั้นกำลังคร่ำเคร่ง และเคร่งเครียด กับการทำ Dissertation อยู่

ในขณะนั้นซึ่งกำลังสับสนกับการทำ dissertation และในช่วงแรกๆก็ทำออกมาได้ไม่ใคร่จะได้เรื่องได้ราวนัก จนวันหนึ่งอาจารย์ที่ปรึกษาท่านที่ว่านี้ก็ได้เรียกไปพบแล้วถามว่า

"คุณรู้รึเปล่าว่า มืออาชีพ กับ มือสมัครเล่น น่ะ มันแตกต่างกันยังไงบ้าง"
"I am not so sure"
"มีอยู่ 2 เรื่องที่แตกต่างกันมากๆ หนึ่ง มืออาชีพจะสามารถทำงานได้ทุกเมื่อ ทุกเวลา ทุกสถานะ โดยไม่มีข้อจำกัด ในขณะที่มือสมัครเล่นมักจะเอาเรื่อง/ปัญหา/อุปสรรครอบๆตัวมาเป็นข้ออ้างในการผลัดงานออกไป"
"เรื่องที่ สอง มืออาชีพจะทำงานอย่างมีความต่อเนื่อง ทุก step มีความหมาย และมีที่มาที่ไป"
"อืม..."
"ถ้าไปดูคนสองคนที่กำลังเล่นหมากรุกกัน หากดูการเดินเพียงครั้งเดียวไม่มีทางรู้หรอกว่าคนไหนเป็นมืออาชีพ คนไหนเป็นมือสมัครเล่น เพราะมือสมัครเล่นก็สามารถเดินหมากได้ดีๆอยู่บ่อยๆเหมือนกัน แต่ถ้าเฝ้าดูไปสักหกเจ็ดก้าว จะเริ่มเห็น ทุกก้าวของมืออาชีพจะมีที่มาที่ไหน เกิดจากการวางแผนและเดินในก้าวที่ผ่านๆมา และจะเดินอย่างต่อเนื่อง ไม่ออกอาการเป๋ ในขณะที่มือสมัครเล่นจะออกเป็นลักษณะแบบแก้ปัญหาเป็นก้าวๆไป"
"..."

จากวันนั้นที่ได้อาจารย์เตือนสติ ก็พยายามปรับปรุงตัวเองให้มีความเป็นมืออาชีพมากยิ่งขึ้น แล้วก็ยังเก็บเอาเรื่องนี้มาสอนให้คนที่ใกล้ชิด นักเรียน นักศึกษา และเพื่อนร่วมงานอยู่เป็นประจำ

คุณล่ะ "เป็นมืออาชีพ" แล้วหรือยัง

5 comments:

Anonymous said...

อาจารย์เล่นกอล์ฟด้วยเหรอคะ..ปกติเล่นที่สนามไหนอ่ะ...เล่นกอล์ฟก็สนุกดีค่ะ..แต่เล่นนานๆจะปวดเอว...หนูก็เล่นกอล์ฟนะคะอาจารย์...แต่เพราะปวดเอวเนี่ยแหละ หนูก็เลยต้องเปลี่ยนมาลองยิงปืนดูแทนค่ะ อาจารย์สนยิงปืนมั้ยคะ

Anonymous said...

ปลื้มอาจารย์เต็กมากมายยยยยยยยยยย

Anonymous said...

"ยัน1สัปดาห์รู้ผลเจบิคปล่อยกู้สายสีม่วง
6 พฤศจิกายน 2550
เจบิคปล่อยกู้สายสีม่วงแล้ว รอแค่แจ้ง OECD-คาดเดินหน้าเปิดประมูลและลงนามกู้เงินได้ในเดือน พ.ย.นี้ กระทรวงคมนาคมเร่งเดินหน้าสายสีม่วง รฟม.เลื่อนเปิดชองประมูลเป็น ธ.ค.50
นายฉลองภพ สุสังกร์กาญจน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เปิดเผยว่า คาดว่าภายในสัปดาห์นี้หรืออย่างช้าสัปดาห์หน้า ทางธนาคารเพื่อความร่วมมือระหว่างประเทศแห่งญี่ปุ่น (เจบิค) จะตอบอนุมัติเงินกู้ให้แก่โครงการรถไฟฟ้าสายสีม่วง (บางใหญ่-บางซื่อ) ของไทยอย่างเป็นทางการ โดยยืนยันว่าจากการที่ได้หารือร่วมกับรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังของญี่ปุ่น ถือว่ามีความคืบหน้าที่เป็นบวก ซึ่งยอมรับว่าในระดับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้มีการอนุมัติแล้ว รอเพียงขั้นตอนที่เป็นทางการเท่านั้น
อย่างไรก็ดี ยังไม่ได้มีการเจรจาเงื่อนไขอัตราดอกเบี้ยในครั้งนี้ ส่วนจะมีการลงนามสัญญาเงินกู้ได้ในรัฐบาลนี้หรือไม่ คงต้องรอให้เจบิคตอบมาอย่างเป็นทางการก่อน
"จากการที่ได้หารือความคืบหน้ากับทาง รมว.คลังญี่ปุ่น ก็รู้สึกว่ามีความคืบหน้าเป็นบวก คาดว่าเขาคงจะตอบอนุมัติอย่างเป็นทางการภายในสัปดาห์นี้ หรืออย่างช้าสัปดาห์หน้า" นายฉลองภพกล่าว
แหล่งข่าวจากกระทรวงการคลัง กล่าวว่า ทั้งนี้ แม้จะยังไม่ได้คุยรายละเอียดเกี่ยวกับเงื่อนไขการกู้เงินและอัตราดอกเบี้ยต่างๆ แต่ก็คาดว่าจะสามารถเดินหน้ากระบวนการประกวดราคารถไฟฟ้าสายสีม่วงได้ภายในเดือน พ.ย.นี้ด้วยเช่นกัน รวมถึงลงนามในสัญญาการกู้เงินภายในเดือน พ.ย.
ผู้สื่อข่าวรายงานถึงความคืบหน้าในโครงการก่อสร้างรถไฟฟ้าสายสีม่วงว่า ขณะนี้นายสรรเสริญ วงศ์ชะอุ่ม รมช.คมนาคม ได้เรียกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้ามาหารือ เพื่อให้เร่งรัดประกวดราคาและก่อสร้างรถไฟฟ้าสายสีม่วง โดยเฉพาะงานโยธาฯ มูลค่า 13,000 ล้านบาทโดยเร็ว ซึ่งตั้งเป้าต้นปี 51 ประกวดราคาแล้วเสร็จ ล่าสุด รฟม.ได้เลื่อนซองประมูลโครงการไปเป็นเดือน ธ.ค.50 เนื่องจากรอความชัดเจนทางด้านเงินกู้จากเจบิค
ด้านนายโฆสิต ปั้นเปี่ยมรัษฎ์ รองนายกรัฐมนตรีและ รมว.อุตสาหกรรม กล่าวว่า การลดการจัดเก็บเงินเข้ากองทุนน้ำมันจะไม่ส่งผลกระทบต่อโครงการก่อสร้างรถไฟฟ้า และมองว่าการก่อสร้างรถไฟฟ้าควรใช้เงินในประเทศมากกว่า"

...เนื้อข่าวข้างต้น นี้ผมอ่านเจอจาก "ไทยโพสต์" ครับอาจารย์เคยบอกว่าเป็นห่วงรถไฟฟ้าสายสีม่วงว่า ถ้าเปิดดำเนินการแล้ว อาจจะประสบปัญหา ว่าใครลงทุนระหว่างรัฐหรือเอกชน และแหล่งเงินทุนมาจากใหน
จากเนื้อข่าวนี้แสดงว่ารัฐลงทุนเองใช่หรือเปล่าครับ โดยกู้เงินจาก เจบิค ผมสงสัยว่าทางเจบิคเขามีการศึกษาความเป็นไปได้ของโครงการของลูกหนี้หรือเปล่า ในเมื่อมีหลายๆท่านเห็นว่าเป็นโครงการที่ไม่คุ้ม และถ้าข่าวนี้เป็นจริง เจบิคคิดอย่างไรถึงให้กูครับ ?


SP10

Santi Ch. said...

ก่อนอื่นต้องแยกแยะเป็น 2 ประเด็น คือเรื่อง การลงทุนในงานโยธา และ การลงทุนในงานระบบ

ในส่วนของงานโยธานั้น อย่างไรก็ตาม รัฐก็จะเป็นผู้ออกเงินให้ เนื่องจากหากให้เอกชนลงทุนทั้งหมดอาจจะไม่คุ้ม (ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับการทำ financial modelling ว่า ผลตอบแทนทางการเงินของโครงการเป็นเท่าใด คุ้มกับค่างานโยธาด้วยหรือไม่)

ในส่วนของงานระบบเดินรถ และตัวรถ ยังไม่มีความชัดเจนว่าจะให้เอกชนลงทุน หรือให้รัฐบาลลงทุน แต่ผมมองจากตัวเลขที่เคยเห็น และจากความเห็นส่วนตัว คิดว่าไม่น่าจะมีเอกชนรายไหนมาลงทุน เนื่องจากปริมาณผู้โดยสารน่าจะไม่คุ้ม นอกจากว่ารัฐบาลจะให้ government suppport เช่น ประกันปริมาณผู้โดยสารขั้นต่ำให้ เป็นต้น ฉะนั้นสุดท้ายแล้วหากเอกชนไม่สนใจ รัฐก็ต้องเป็นผู้ลงทุนและ operate โครงการเอง คงไม่มีรัฐบาลที่จะปล่อยให้งานโยธาเสร็จแต่ไม่เอารถมาเดิน จะโดนด่าเปล่าๆ

ส่วนที่ผมเห็นว่าเป็นปัญหาจริงๆแล้วคือ หากโครงการเริ่มให้บริการ เชื่อว่าน่าจะต้องแบกรับภาระขาดทุนมหาศาล ปีปีหนึ่งอาจจะต้องอุดหนุนไปเป็นพันล้านบาท วันก่อนได้คุยกับผู้เชี่ยวชาญท่านหนึ่งผู้ที่อยู่วงใน ท่านเล่าให้ฟังว่า ในปัจจุบัน รฟม. ต้องอุดหนุนค่าดำเนินการให้กับรถไฟฟ้าใต้ดินที่เปิดให้บริการอยู่นี้ ปีปีหนึ่ง 400-500 ล้านบาท พร้อมๆกับเอกชนผู้รับสัมปทานก็ยังแบกภาระขาดทุนอยู่ปีละหลายร้อยล้านเช่นกัน

หลายคนมักจะอ้างว่าโครงการระบบรถไฟฟ้านั้น รัฐต้องยอมขาดทุน เรื่องผลตอบแทนทางการเงินนั้นไม่ใช่ประเด็นหลัก อันนี้ผมเห็นด้วย แต่ว่าคิดดูดีๆ รัฐลงทุนค่างานโยธาไปก็มากกว่าครึ่งแล้ว ส่วนนี้แหละที่รัฐลงทุนโดยไม่หวังผลตอบแทนเลย แต่หากรัฐต้องมาอุดหนุนรายปีอีกมหาศาลแล้วล่ะก็ ผมว่าโครงการเหล่านี้มีปัญหาแน่นอน ในระยะยาว อย่างที่เคยเกิดมาแล้วใน underground ที่อังกฤษ

สุดท้ายผมจึงคิดว่าการอนุมัติให้เริ่มงานก่อสร้าง โดยยังไม่มีความชัดเจนเรื่อง operation จึงเหมือนกับว่ารัฐรับความเสี่ยงไว้มหาศาล เสี่ยงทีจะขาดทุน ผมคิดเล่นๆว่าจริงๆแล้วรัฐไม่เสี่ยงหรอก แต่เกิดภาระมหาศาลแน่นอน

ส่วนเรื่อง JBIC ที่ให้กู้น่ะ เค้าไม่ต้องคิดถึงเรื่องผลตอบแทนหรอก เพราะเป็นการกู้เพื่อใช้ในการก่อสร้างงานโยธา และคนที่ใช้คืนเงินกู้คือรัฐบาล ไม่ว่าจะดำเนินการแล้วเสร็จหรือไม่ เปิดให้บริการแล้วจะขาดทุนหรือเปล่า JBIC ก็ได้เงินคืนแน่นอน เพราะรัฐบาลเป็นประกัน ฉะนั้นแหล่งเงินกู้พวกนี้สนใจแต่ว่ามีรัฐบาลเป็นผู้รับผิดชอบ

ผมว่าเผลอๆพวก JBIC นี่แหละที่ชอบเสียอีกที่มีคนทำตัวเลขให้ดูเหมือนจะน่าลงทุน เพื่อ JBIC จะได้มีโอกาสเอาเงินที่ล้นประเทศออกมาทำเงินในต่างประเทศ (ดอกเบี้ยในประเทศของญี่ปุ่นแทบจะเป็น 0%) เผลอๆจะผนวกเอาผู้รับเหมาญี่ปุ่นมาโกยเงินกลับไปอีก

สุดท้ายคนไทยได้แต่ขายหิน ขายเหล็ก ขายแรงงาน และได้สมบัติเป็นหนี้สินก้อนโตให้ลูกหลายไว้เชยชมไปอีกหลายสิบปี พร้อมกับภาระเงินที่ต้องอุดหนุนโครงการไปอีกนาน

นินทาญี่ปุ่นเสียยาวเลย ลืมไปว่าตัวเองก็เป็นนักเรียนเก่าญี่ปุ่น ขอโทษด้วยครับ ...

Anonymous said...

ตอนเรียน Infrastructure กับอาจารย์ ครั้งหนึ่ง อาจารย์เคยพูดถึงเรื่อง พิธีสาร Kyoto Protocol และ Clean Development Mechanism (CMD) ซึ่งผมเองก็ไม่ค่อยเข้าใจมากนัก เผอิญผมอ่านเจอในหนังสือ วารสาร Business Thai ฉบับวันที่ 5-7 พ.ย. 2550 เผื่อเพื่อนๆท่านใดสนใจผมจึงสรุปใจความสั้นๆมาให้อ่านครับ

ธุรกิจใหม่ของโลกที่มีความร้อนแรงมากที่สุดในขณะนี้คือการซื้อขาย คาร์บอนเครดิตครับ ซึ่งเกิดจากกลไกการแก้ปัญหาโลกร้อน ตามพิธีสารโตเกียว (Kyoto Protocol) ซึ่งทำนายกันว่ามูลค่า ซื้อขายกันในปี 2012 หรือ พ.ศ.2555 จะสูงถึง 2 ล้านล้าน ดอลลาร์สหรัฐ (เงินไทยเท่าไหร่ คิดเอาเองครับ)
พิธีสารเกียวโต กำหนดให้ประเทศที่ปล่อยก๊าซที่ทำให้เกิดภาวะเรือนกระจก ซึ่งเป็นสาเหตุของภาวะโลกร้อน ให้สามารถลงทุนในโครงการที่ช่วยลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ในประเทศอื่นและนำมาหักจากเป้าหมายการลดการปล่อยก๊าซจากโรงงานของประเทศตัวเอง โดยผ่านกลไกการพัฒนาที่สะอาด หรือ Clean Development Mechanism (CMD) เป้าหมายของประเทศที่พัฒนาแล้วจะต้องลดการปล่อยก๊าซตามพิธีสารเกียวโต 5% ของทั้งประเทศภายในปี 2555 ซึ่งโรงงานในประเทศอุตสาหกรรมนั่งคิด นอนคิด ตีลังกาคิด แล้วเห็นว่า ลงทุนซื้อคาร์บอนเครดิตจากประเทศอื่น ยังถูกกว่าลงทุนเอง ส่วนประเทศที่กำลังพัฒนาก็เห็นว่า มีโอกาสลงทุนในโครงการลดการปล่อยก๊าซในประเทศตัวเองโดยไม่ต้องใช้เงินลงทุนมาก เพราะสามารถนำโควตาที่เกิดจากการลดก๊าซของตัวเองไปขายได้ ก็เลยพากันลงทุนในโครงการจำนวนนี้กันมาก
มีรายงานว่ามูลค่าการลงทุนการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกจำนวนหนึ่งตันในประเทศที่พัฒนาแล้วใช้เงินลงทุนถึง 300-500 ดอลลาร์ หรือประมาณ 10,200 -17,000 บาท ในขณะที่ประเทศกำลังพัฒนาใช้เงินเพียง 300-850 บาท เท่านั้นเองครับ
ประเทศอเมริกาถึงแม้ไม่ได้ทำสัญญาแต่ก็ช่วยแก้ปัญหาโดยการเป็นลูกค้าของตลาดซื้อขายคาร์บอนเครดิตไปด้วย กลไกของ CDM สร้างตลาดการซื้อขายคาร์บอนเครดิตขึ้น ประเทศต่างๆเช่น อเมริกา อังกฤษ ญี่ปุนต่างก็แย่งเป็นศูนย์กลางการค้าตลาดคาร์บอนเครดิต เพราะมูลค่าซื้อขายมหาศาล สำนักข่าว เอพีอ้างจากรายงาน Point Carbon ว่ามูลค่าการซื้อขายสูงถึง 30,400 ล้านดอลลาร์สหรัฐโน่นแนะ
สิ่งที่ตลาดใช้ซื้อขายกันคือใบรับรองการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก เช่น ก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ โดยเทียบน้ำหนักหนึ่งตันที่ลดได้เท่ากับหนึ่งเครดิตครับ ขณะนี้ตลาดใหญ่ของโลกที่ซื้อขายคือทวีปยุโรป สำหรับทวีปอเมริกานั้น บราซิลกำลังจะเปิดครับ และแน่นอนทวีปเอเชีย อินเดียเปิดซิง เรียบร้อยแล้วครับ
ประเทศที่ขายคาร์บอนมากที่สุดคือ จีน ครับ มีมูลค่าถึง 61% ของมูลค่าการซื้อขาย อินเดีย 12% บราซิล 4% และประเทศที่รับซื้อมากที่สุดคือ อังกฤษครับ รับซื้อถึง 50% ของจำนวนมูลค่าการซื้อขายทั้งหมด สำหรับประเทศไทยข่าวว่า เจ้าสัว ทั้งหลายกำลังเร่งทำสัญญาขายคาร์บอนเครดิตตันละ 5 ดอลลาร์สหรัฐ อยู่ครับ
เอ......แล้วถ้าวันไหนบ้านเราถูกบังคับให้ต้องลดการปล่อยก๊าซบ้าง อาจารย์และเพื่อนๆ คิดว่าเราจะไปซื้อคาร์บอนเครดิตจากประทศไหนดีครับ

ถ้าข้อมูลยังไม่ชัดเจน ถูกต้อง เรียนอาจารย์ ให้คำแนะนำด้วยครับ

SP137…………….