01 April 2007

Public-Private Partnerships (3)

กรณีศึกษาของประเทศต่างๆ

จากกรณีศึกษาของประเทศต่างๆที่ได้นำเสนอมานั้นมีหลากหลายรูปแบบ รูปแบบ PPP ที่ใช้กันส่วนใหญ่นั้นจะเป็นรูปแบบ Leasing และ Joint Venture หรือในบางกรณีก็จะใช้รูปแบบผสมกันระหว่าง Leasing และ Joint Venture โดยขอนำเสนอรายละเอียดของรูปบบในสามเมืองคือ สิงคโปร์ ฮ่องกง และ ปักกิ่ง ดังต่อไปนี้

ในประเทศสิงคโปร์นั้นใช้รูปแบบ Leasing ผสมกับ Joint Venture คือ บริษัทเอกชน (SMRT Corporation) ลงทุนในระบบเดินรถซึ่งมีมูลค่าประมาณ 1.2 พันล้าน เหรียญสิงคโปร์ และรัฐบาลลงทุนในส่วนของงานก่อสร้างระบบโครงสร้างพื้นฐาน จึงเข้าลักษณะการใช้ PPP แบบ Leasing ในส่วนของบริษัทเอกชน (SMRT Corporation) นั้นมีผู้ถือหุ้นใหญ่คือบริษัท Temasek Holding ซึ่งเป็นบริษัทของรัฐบาลสิงคโปร์ ซึ่งถือหุ้นอยู่ร้อยละ 62.29 อีกร้อยละ 37.71 นั้นถือโดยเอกชนรายย่อยๆอื่นๆ จึงถือได้ว่าเป็นรูปแบบ PPP แบบ Joint Venture จึงถือได้ว่าการพัฒนาระบบรถไฟฟ้าฯของสิงคโปร์นั้นเป็นรูปแบบผสม ทั้งนี้จะเห็นได้ว่ารายได้หลักของระบบฯคือรายได้จากค่าโดยสาร (Fare revenue)





รูปที่ 1 รูปแบบการลงทุนของระบบรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนของสิงคโปร์

ระบบรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนที่ฮ่องกงมีลักษณะพิเศษที่ต่างจากระบบฯของเมืองอื่นๆคือการพัฒนาแบบ Rail & Property คือพัฒนาธุรกิจอสังหาริมทรัพย์คู่กับธุรกิจเดินรถ โดยจะสังเกตเห็นได้ว่ากำไรจากธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ของบริษัท MTR Corporation ซึ่งเป็นบริษัทที่รับผิดชอบระบบรถไฟฟ้าฯ มีปริมาณใกล้เคียงกับกำไรจากการเดินรถซึ่งทำให้กำไรทั้งหมดมากพอที่จะทำให้ธุรกิจทั้งหมดอยู่ได้ด้วยตัวเอง โดยไม่ต้องการการอุดหนุนจากรัฐบาลทั้งในเรื่องต้นทุนค่าก่อสร้าง ต้นทุนค่าระบบเดินรถ และต้นทุนค่าใช้จ่ายปฏิบัติการ (Operation and Maintenance Cost) สำหรับบริษัท MTR Corporation นั้นเป็นบริษัทที่มีผู้ถือหุ้นใหญ่คือรัฐบาลท้องถิ่นฮ่องกง ร้อยละ 76.46 และส่วนที่เหลือถือโดยเอกชนรายอื่นๆ ดังนั้นระบบรถไฟฟ้าฯของฮ่องกงจึงมีการใช้ PPP แบบ Joint Venture ทั้งนี้ในขณะเริ่มก่อตั้งบริษัทฯนั้นรัฐบาลฯถือหุ้นทั้งหมดและมากเปิดให้มีเอกชนรายอื่นเข้าซื้อหุ้นในภายหลัง


รูปที่ 2 รูปแบบการลงทุนของระบบรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนของฮ่องกง

ส่วนในกรณีของรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนในนครปักกิ่งสายที่ 4 นั้นเป็นการใช้ PPP แบบผสมกันระหว่าง Leasing และ Joint Venture โดยรัฐบาลลงทุนค่าก่อสร้างระบบโครงสร้างพื้นฐานซึ่งมีสัดส่วนร้อยละ 70 ของต้นทุนทั้งหมดและบริษัทเอกชนลงทุนค่าระบบเดินรถซึ่งมีสัดส่วนร้อยละ 30 ซึ่งถือว่าเป็นการใช้ PPP แบบ Leasing นอกจากนี้ในบริษัทเอกชนผู้ดำเนินโครงการ (Project Company) นั้นมีการใช้เงินกู้จากแหล่งเงินกู้เอกชนประมาณร้อยละ 60 ของทุนทั้งหมดของบริษัท และในส่วนของทุนที่ระดมจากผู้ถือหุ้นนั้นมีผู้ถือหุ้นทั้งหมดสามส่วนคือ บริษัท Beijing Infrastructure Investment Co., Ltd. (BII) ซึ่งถือหุ้นร้อยละ 2 บริษัท Beijing Capital Group (BCG) ซึ่งถือหุ้นร้อยละ 49 และบริษัท MTR Corporation จากฮ่องกงถือหุ้นร้อยละ 49 ทั้งนี้บริษัท BII และ BCG นั้นเป็นบริษัทของรัฐบาลท้องถิ่นปักกิ่ง และบริษัท MTR Corporation เป็นบริษัทของฮ่องกงที่มีผู้ถือหุ้นส่วนหนึ่งเป็นเอกชน รูปแบบการลงทุนแบบนี้จึงเป็นการใช้ PPP แบบ Joint Venture


ดังนั้นการพัฒนาระบบรถไฟฟ้าฯในนครปักกิ่งนั้นเป็นรูปบบที่ผสมผสานระหว่าง PPP แบบ Leasing และ แบบ Joint Venture

รูปที่ 3 รูปแบบการลงทุนของระบบรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนของนครปักกิ่ง

No comments: