01 April 2007

Public-Private Partnerships (1)

รูปแบบการร่วมลงทุนระหว่างรัฐบาลและเอกชน
(Public Private Partnership)

­
ดร.สันติ เจริญพรพัฒนา
โครงการวิศวกรรมและการบริหารการก่อสร้าง
ภาควิชาวิศวกรรมโยธา คณะวิศวกรรมศาสตร์
มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี


1. บทนำ

การให้เอกชนมีส่วนร่วมในการลงทุน (Public Private Partnership: PPP) ในระบบโครงสร้างพื้นฐานต่างๆนั้นเป็นแนวโน้มที่เด่นชัดในทศวรรษที่ผ่านมาทั้งในทุกๆประเทศ งานวิจัยของธนาคารโลก
[1]พบว่า ช่วงตั้งแต่ปี ค.ศ. 1990 ถึง 2001 นั้นในประเทศที่กำลังพัฒนามีโครงการพัฒนาระบบโครงสร้างพื้นฐานในด้านต่างๆ (การขนส่ง โทรคมนาคม พลังงาน ระบบน้ำ และอื่นๆ) ที่ใช้การร่วมลงทุนจากภาคเอกชนมากกว่า 2,500 โครงการ มีมูลค่ารวมมากกว่า 775 พันล้านเหรียญสหรัฐอเมริกา หรือประมาณ 31 ล้านล้านบาท

แนวโน้มของการให้เอกชนร่วมลงทุนนั้นเริ่มเด่นชัดเพิ่มมากขึ้นตั้งแต่ปี ค.ศ.1990 และเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆจนถึงจุดสูงสุดที่ปี ค.ศ. 1997 แล้วค่อยๆลดลงเรื่อยๆ ซึ่งเป็นช่วงเวลาเกิดวิกฤตเศรษฐกิจทั่วโลกส่งผลให้การลงทุนของภาคในการพัฒนาระบบโครงสร้างพื้นฐานลดลงอย่างรวดเร็ว ดังแสดงในรูปที่ 1 สาเหตุของการลดลงของการลงทุนจากภาคเอกชนหลังปี ค.ศ. 1997 นั้นมีสองประการคือ 1) การเกิดวิกฤตเศรษฐกิจในช่วงกลางปี ค.ศ.1997 ทำให้ส่งผลให้เกิดความไม่มั่นใจในการลงทุนจากภาคเอกชน นอกจากนี้การเกิดวิกฤตเศรษฐกิจยังส่งผลให้ความต้องการระบบโครงสร้างพื้นฐานต่างๆ เช่น พลังงาน การเดินทางขนส่ง เป็นต้น ลดลงอย่างกระทันหันตามไปด้วย จึงทำให้ความต้องการโครงการต่างๆลดน้อยลงไป 2) ในช่วงปี ค.ศ. 1997 และ 1998 เป็นปีที่มีการแปรรูป (Privatization) ของรัฐวิสาหกิจขนาดใหญ่อย่างมากมายในประเทศแถบอเมริกาใต้เช่น บราซิล และเม็กซิโก เป็นต้น ทำให้ปริมาณการลงทุนจากภาคเอกชนเพิ่มขึ้นอย่างกระทันหัน อย่างไรก็ตามหากดูแนวโน้มโดยภาพรวมแล้วการให้เอกชนมีส่วนร่วมในการลงทุนพัฒนาระบบโครงสร้างพื้นฐานนั้นยังเป็นแนวโน้มของประเทศส่วนมากทั่วโลกทั้งประเทศกำลังพัฒนาและประเทศที่พัฒนาแล้ว


รูปที่ 1 แนวโน้มของการร่วมลงทุนจากภาคเอกชนในการพัฒนาระบบโครงสร้างพื้นฐานในประเทศกำลังพัฒนา
ที่มา World Bank PPI Projects Database,
http://www.worldbank.org/

ในประเทศที่พัฒนาแล้วก็มีแนวโน้มการให้เอกชนมีส่วนร่วมในการลงทุนในการพัฒนาระบบโครงสร้างพื้นฐานมากขึ้นเรื่อยๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในประเทศสหราชอาณาจักร ซึ่งรัฐบาลมีนโยบายอย่างชัดเจนในการให้เอกชนร่วมลงทุนโครงการพัฒนาต่างๆของรัฐบาล ซึ่งเรียกว่า Private Finance Initiative scheme (PFI) ในสหราชอาณาจักรประเทศเดียวตั้งแต่ปี ค.ศ. 1984 ถึง 2004 มีโครงการที่ให้เอกชนร่วมลงทุนมากกว่า 600 โครงการเป็นจำนวนเงินลงทุนทั้งสิ้นมากกว่า 40,000 ล้านปอนด์
[2]


[1] Harris, C., 2003. Private Participation in Infrastructure in Developing Countries: Trends, Impact, and Policy Lessons. World Bank Working Paper No.5, the World Bank
[2] HM Treasury, 2004. PPP: PFI Statistics, HM Treasury, UK parliament, June 2004. (http://www.hm-treasury.gov.uk)



1 comment:

Anonymous said...

always i used to read smaller articles that also clear their motive, and that is also happening with this post which
I am reading here.

My homepage :: best whitening cream for face