01 April 2007

Public-Private Partnerships (2)

2. การให้เอกชนร่วมลงทุนในโครงการระบบรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนในประเทศต่างๆ

จากการศึกษาพบว่าระบบรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนในเมืองต่างๆส่วนใหญ่จะยังคงใช้การลงทุนจากภาครัฐเป็นหลักโดยมีการจัดตั้งองค์กรสำหรับการบริหารจัดการในรูปของรัฐวิสาหกิจ หรือบริษัทที่รัฐบาลถือหุ้นทั้งหมด และส่วนมากจะเป็นองค์กรที่อยู่ภายใต้รัฐบาลท้องถิ่น

2.1. กรุงลอนดอน ประเทศสหราชอาณาจักร

ที่นครลอนดอน ประเทศสหราชอาณาจักร ระบบรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนนั้นเริ่มเปิดใช้ตั้งแต่ปี ค.ศ. 1863 ซึ่งลงทุนทั้งหมดโดยรัฐบาล ต่อมาในระยะหลังระบบฯประสบปัญหาเรื่องความเสื่อมโทรมของระบบจึงต้องการหาทุนเพื่อการปรับปรุงระบบครั้งใหญ่ อีกทั้งปัญหาการขาดความต่อเนื่องของงบประมาณดำเนินการรายปี ทำให้เกิดความคิดที่จะให้เอกชนเข้ามาร่วมในการลงทุนเพื่อแก้ปัญหาเรื่องการเงินดังกล่าว ด้วยเหตุนี้จึงตั้ง บริษัท London Underground Limited (LUL) ซึ่งเป็นองค์กรที่ตั้งขึ้นมาเพื่อบริหารจัดการระบบรถไฟฟ้าใต้ดินของกรุงลอนดอน ในปี ค.ศ. 1985 และอยู่ภายใต้การควบคุมดูแลของรัฐบาลลอนดอน จากนั้นจึงได้ริเริ่มระบบ PPP คือเอกชนมีส่วนร่วมโดยจัดหาเงินลงทุนในการปรับปรุงระบบดังกล่าว และให้เป็นผู้ดำเนินการบำรุงรักษางานโยธาได้แก่ อุโมงค์ และสิ่งก่อสร้างต่างๆ โดยบริษัทเอกชนที่เข้าร่วมลงทุนนี้จะได้รับผลตอบแทนจากรัฐบาลเป็นรายปี โดยที่ LUL ซึ่งเป็นองค์กรของรัฐบาลยังคงเป็นผู้ดำเนินการให้บริการ จัดเก็บค่าโดยสาร และควบคุมการทำงานของบริษัทเอกชนเหล่านั้นด้วย

2.2. กรุงโตเกียว ประเทศญี่ปุ่น

ในเมืองอื่นๆในประเทศที่พัฒนาแล้วเช่นที่นครโตเกียวประเทศญี่ปุ่นนั้นระบบรถไฟฟ้าขนส่งมวลชลนั้นมีสองระบบหลักบริหารโดยสององค์กรคือ บริษัท Tokyo Metro ซึ่งมีมีผู้ถือหุ้น 2 ส่วนคือ ส่วนของรัฐบาลกลางญี่ปุ่น และส่วนรัฐบาลกรุงโตเกียว และ Bureau of Transportation Tokyo Metropolitan Government ซึ่งเป็นหน่วยงานภายใต้รัฐบาลกรุงโตเกียว ทั้งสององค์กรเป็นองค์ของรัฐทั้งหมด ในการลงทุนเพื่อก่อสร้างก็ได้งบประมาณสนับสนุนจากรัฐบาล ดังนั้นสององค์กรนี้มิได้ใช้ PPP ในการดำเนินการ แม้ว่าจะไม่ได้ให้เอกชนร่วมลงทุนในระบบฯที่อยู่ภายใต้การบริหารจัดการของรัฐบาลก็ตาม แต่รัฐบาลก็ส่งเสริมให้มีระบบรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนที่ลงทุนโดยเอกชน ในกรุงโตเกียงเองก็มีบริษัทเอกชนที่ดำเนินการระบบรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนอยู่หลายบริษัท อาทิเช่น Tobu, Tokyu และ Keisei เป็นต้น ซึ่งบริษัทเหล่านี้จะวางแผนกำหนดเส้นทาง ลงทุนก่อสร้างและให้บริการเองทั้งหมด ภายใต้การกำกับดูแลจากรัฐบาล และรัฐบาลจะมีเงินให้เปล่าเพื่อสนับสนุนการลงทุนจำนวนหนึ่ง
[1] โดยบริษัทเหล่านี้จะมีรายได้ประเภทที่ไม่เกี่ยวกับค่าโดยสาร (Non-fare revenue) เช่น รายได้จากการพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ และการโฆษณา เป็นต้น ในสัดส่วนที่สูงมากจึงทำให้มีสถานะทางการเงินที่ดี

2.3. เมืองฮ่องกง ประเทศสาธารณรัฐประชาชนจีน

ในปี ค.ศ. 1975 รัฐบาลฮ่องกงใช้วิธีตั้งองค์กรในรูปบริษัทโดยมีหน้าที่ทำการลงทุนและดำเนินการระบบรถไฟฟ้าขนส่งมวลชน โดยมีชื่อว่า บริษัท MTR Corporation ภายใต้การกำกับดูแลของ Transport Department และสามารถเปิดให้บริการรถไฟสายแรกได้ในปี ค.ศ. 1979 โดยใช้การลงทุนจากภาครัฐเป็นหลัก ซึ่งต่อมาได้ดำเนินการแบบธุรกิจเต็มรูปแบบ และปรากฎว่ามีผลตอบแทนทางการเงินสูงมากจึงมีสถานะทางการเงินที่ดีมาก อีกทั้งยังทำธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ที่เป็นธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับระบบรถไฟฟ้าฯโดยตรง จากนั้นในปี ค.ศ. 2000 บริษัทฯได้เข้าระดมทุนในตลาดหลักทรัพย์ ซึ่งในปัจจุบันรัฐบาลท้องถิ่นฮ่องกง (Hong Kong SAR Government) ถือหุ้นร้อยละ 76.46 และอีกร้อยละ 23.54 ถือโดยนักลงทุนในตลาดหลักทรัพย์
[2]

ผลประกอบการในปี ค.ศ. 2003 และ 2004
[3] นั้นปรากฎว่ามีกำไรที่ได้จากการประกอบธุรกิจอสังหาริมทรัพย์นี้มีสัดส่วนมากกว่ากำไรที่ได้จากระบบรถไฟฟ้าเสียอีก โดยรูปแบบการลงทุนแบบนี้ถูกเรียกว่า Rail and Property Model ซึ่งหมายความว่าใช้ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์เป็นธุรกิจหลักอีกด้านเพื่อที่สามารถจะเพิ่มผลกำไรขององค์กรได้ หรือในกรณีที่ผลประกอบการของระบบรถไฟฟ้าฯขาดทุนก็ยังสามารถชดเชยด้วยผลกำไรจากธุรกิจอสังหาฯ ซึ่งเป็นรูปแบบที่ประสบความสำเร็จเป็นอย่างมาก

2.4. กรุงปักกิ่ง ประเทศสาธารณรัฐประชาชนจีน

รัฐบาลท้องถิ่นของกรุงปักกิ่งกำลังจะใช้ PPP ในการพัฒนารถไฟฟ้าขนส่งมวลชนสายที่ 4 (Beijing Metro Line 4) โดยรัฐบาลฯจะเป็นผู้ลงทุนค่าก่อสร้างซึ่งมีมูลค่าเป็นสัดส่วนร้อยละ 70 ของการลงทุนทั้งหมด ส่วนค่าระบบเดินรถฯซึ่งมีสัดส่วนร้อยละ 30 นั้นจะลงทุนโดยกิจการร่วมค้า (Joint Venture) ซึ่งเป็นการร่วมธุรกิจกันระหว่างบริษัท MTR Corporation (บริษัทที่ดำเนินการระบบรถไฟฟ้าฯที่เมืองฮ่องกง) บริษัท Beijing Infrastructure Investment Co., Ltd. (BII) และบริษัท Beijing Capital Group (BCG) ซึ่งเป็นทั้งสองบริษัทเป็นบริษัทลูกของรัฐบาลท้องถิ่นกรุงปักกิ่ง โดยบริษัทนี้จะได้สิทธิการบริหารจัดการเป็นเวลา 30 ปี
หากพิจารณาในรายละเอียดจะพบว่ารัฐบาลฯได้ใช้รูปแบบ PPP สองประเภทผสมกันคือแบบ Leasing ซึ่งรัฐบาลเป็นผู้ลงทุนสิ่งก่อสร้างและให้บริษัทคู่สัญญาใช้สิ่งก่อสร้างในการให้บริการ และแบบ Joint Venture
[4] ซึ่งบริษัทคู่สัญญากับรัฐบาลก็เป็นกิจการร่วมค้าที่เป็นการร่วมธุรกิจระหว่างบริษัทของรัฐบาลและบริษัทเอกชน

2.5. กรุงไทเป ประเทศไต้หวัน

ปัจจุบันระบบรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนของกรุงไทเปมีความยาวทั้งหมด 69.1 กิโลเมตร ลงทุน ก่อสร้างและให้บริการโดยบริษัท Taipei Rapid Transit Corporation (TRTC) ซึ่งเป็นบริษัทที่ตั้งขึ้นโดยรัฐบาล และมีผู้ถือหุ้นใหญ่คือรัฐบาลท้องถิ่นกรุงไทเป (Taipei City Government) ร้อยละ 73.75 รัฐบาลกลางโดยกระทรวงการขนส่งและสื่อสาร ร้อยละ 17.14 รัฐบาลท้องถิ่นย่อยไทเป Taipei County Government ร้อยละ 8.75 และหน่วยงานบริษัทเอกชน 4 รายรวมกันเป็นร้อยละ 0.36
[5] ดังนั้นบริษัทนี้จึงเป็นบริษัทที่มีรัฐบาลเป็นเจ้าของ และดำเนินงานภายใต้การกำกับดูแลของ Department of Rapid Transit Systems (DORTS) ซึ่งเป็นผู้ดำเนินการก่อสร้าง infrastructure และให้บริษัท TRTC ดำเนินการเรื่องระบบเดินรถและให้บริการ โดยบริษัท TRTC จะต้องจ่ายค่าเช่า Infrastructure เป็นรายปีรวมทั้งแบ่งรายได้ให้กับ DORTS ด้วย ดังนั้นจึงถือได้ว่ารัฐบาลเลือกวิธีการลงทุน PPP แบบ Leasing โดยบริษัทที่ดำเนินการ (TRTC) เป็นบริษัทที่ถือหุ้นใหญ่โดยรัฐบาล

2.6. ประเทศสิงคโปร์

ระบบรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนของประเทศสิงคโปร์เปิดให้บริการครั้งแรกในปี ค.ศ.1987 ภายใต้การดำเนินงานของ MRT Corporation ซึ่งเป็นบริษัทที่ตั้งขึ้นโดยรัฐบาลซึ่งรับผิดชอบการลงทุนและให้บริการระบบฯ ต่อจากนั้นในปี ค.ศ.1995 รัฐบาลสิงคโปร์ได้รวมเอา MRT Corporation กับหน่วยงานอื่นอีกสามหน่วยงานคือ Registry of Vehicles, Roads and Transport Division และ Land Transport Division เข้าด้วยกันและตั้งเป็น Land Transport Authority มีหน้าที่บริหารจัดการระบบการขนส่งทางบก รวมถึงระบบรถไฟฟ้าขนส่งมวลชน

จากนั้นในปี ค.ศ. 1998 รัฐบาลสิงคโปร์ได้ให้บริษัทเอกชนเข้าร่วมการลงทุนในระบบรถไฟฟ้าขนส่งมวลชน โดยเปิดให้บริษัทเอกชนเข้ามาลงทุนซื้อทรัพย์สินบางอย่างที่ใช้ในการให้บริการจากรัฐบาล และให้สิทธิการดำเนินกิจการรถไฟฟ้าฯเป็นเวลา 30 ปี โดยบริษัทได้สิทธิในการดำเนินการคือบริษัท Singapore MRT LTD. และ บริษัท Singapore LRT PTE LTD โดยในภายหลัง (ค.ศ. 2000) ทั้งสองบริษัทนี้ได้ถูกรวมและอยู่ภายใต้บริษัทใหม่คือ SMRT Corporation ซึ่งเป็นบริษัทที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์สิงคโปร์และมีผู้ถือหุ้นใหญ่คือ บริษัท Temasek Holdings (Private) Limited โดยถือหุ้นร้อยละ62.29 และบริษัท SMRT Corporation นี้ก็จึงได้สิทธิการดำเนินกิจการระบบรถไฟฟ้าฯทั้งหมดของสิงคโปร์
[6]
ดังนั้นจึงถือได้ว่าในปัจจุบันระบบรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนของประเทศสิงคโปร์ใช้ PPP ในรูปแบบ Leasing โดยให้สิทธิบริษัทเอกชน (SMRT Corporation) มาดำเนินการให้บริการเป็นระยะเวลา 30 ปี โดยมีการแบ่งส่วนแบ่งรายได้ (ร้อยละ 0.5 ในช่วง 5 ปีแรก ร้อยละ 1.0 หลังจากนั้นจนถึงปี ค.ศ.2010 และ เจรจาตกลงกันอีกครั้งในช่วงระยะเวลาที่เหลือ) อย่างไรก็ตามบริษัท SMRT Corporation นั้นมีผู้ถือหุ้นใหญ่คือ Temasek Holding ซึ่งเป็นบริษัทของกระทรวงการคลังของรัฐบาลสิงคโปร์ ดังนั้นจริงๆแล้ว SMRT Corporation อาจจะถือได้ว่าเป็น Joint Venture ระหว่างรัฐและเอกชน ซึ่งเป็นอีกรูปแบบหนึ่งของ PPP อีกด้วย


2.7. เมืองนิวยอร์กซิตี้ ประเทศสหรัฐอเมริกา

ระบบรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนของเมืองนิวยอร์กซิตี้ดำเนินการโดย New York City Transit Authority (NYCTA) ซึ่งเป็นหน่วยงานของรัฐภายใต้ Metropolitan Transportation Authority (MTA) ซึ่งเป็นหน่วยงานที่รับผิดชอบระบบการขนส่งทุกประเภทของเมืองนิวยอร์กซิตี้และปริมณฑล ในส่วนของระบบรถไฟฟ้าที่รับผิดชอบโดย NYCTA นั้นดำเนินการในรูปแบบของรัฐวิสาหกิจ โดย MTA ลงทุนโดยมีแหล่งเงินทุนในรูปเงินอุดหนุนจากรัฐบาลกลางและรัฐบาลท้องถิ่น ภาษีเฉพาะประเภท รวมทั้งเงินกู้จากสถาบันการเงินต่างๆ และเก็บค่าโดยสารจากผู้ใช้ระบบ

ในปัจจุบันสัดส่วนค่าโดยสารที่เก็บได้กับค่าใช้จ่ายในการดำเนินงาน (Farebox operating ratio) นั้นอยู่ที่ 0.589
[7] ซึ่งหมายความว่าค่าใช้จ่ายเฉลี่ยต่อหัวผู้โดยสารสูงกว่าค่าโดยสาร จึงอยู่ในสถานะที่ต้องได้รับเงินอุดหนุนจากภาครัฐตลอดทุกปี ซึ่งอาจจะเป็นปัจจัยหนึ่งที่ทำให้ไม่มีการใช้ PPP ในการลงทุนของ MTA
2.8. กรุงเทพมหานคร


ในปัจจุบันกรุงเทพมหานครมีระบบรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนสองระบบคือ ระบบที่ดำเนินการโดย กรุงเทพมหานคร (กทม.) ซึ่งอยู่ภายใต้กระทรวงมหาดไทยและระบบที่ดำเนินการโดยองค์การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) ซึ่งอยู่ภายใต้กระทรวงคมนาคม
ระบบของ กทม. นั้นใช้ PPP แบบ Concession คือให้บริษัทเอกชน ( BTSC) เป็นผู้ลงทุนค่าก่อสร้างและระบบเดินรถทั้งหมด และให้สิทธิในการดำเนินกิจการ ส่วนระบบของ รฟม. นั้นเป็น PPP แบบ Leasing คือรัฐบาลโดย รฟม. ลงทุนค่าก่อสร้างงานโยธาคือ อุโมงค์ สถานี โรงซ่อมบำรุง และอื่นๆ และให้บริษัทเอกชน (BMCL) ใช้ประโยชน์ในสิ่งก่อสร้างต่างๆ และลงทุนเพิ่มเติมในส่วนของระบบเดินรถ แล้วให้สิทธิในการดำเนินกิจการเป็นเวลา 25 ปี



[1] จากการสัมภาษณ์ผู้บริหารของบริษัท Tokyu Corporation ซึ่งประจำอยู่ที่ประเทศไทย
[2] MTR Corporation, 2005. 2004 Annual Report. http://www.mtr.com.hk/eng/investors/2004frpt_e.htm>
[3] MTR Corporation, 2005. Announcement of audited result for year ended 31 December 2004. Hong Kong
[4] ดูรายละเอียดของแต่ละรูปแบบในส่วนต่อไป
[5] TRTC, 2003. Taipei Rapid Transit Corporation Annual Report 2002. Taipei, R.O.C.
[6] SMRT, 2005. SMRT Corporation Annual Report 2004.
[7] http://www.mta.nyc.ny.us/mta/ind-finance/month/nyct-ratios.htm

No comments: